ส่องนโยบายศึกษา พรรคไหนเด่น-ปัง

เหลือเวลาอีกไม่นาน คนไทยจะมีโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่แต่ละพรรคต่างลงพื้นที่หาเสียง แข่งกันชูนโยบาย แก้ปัญหาด้านต่างๆ เพื่อดึงดูดใจ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกจับตามอง หนีไม่พ้นด้านการศึกษา ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา ก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง

ศึกเลือกตั้งปี 2562 ลองไปส่องดูแต่ละพรรคที่ชูนโยบายด้านการศึกษาในการหาเสียง

เริ่มจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เน้นแก้ปัญหาให้กับนักศึกษาที่เป็นหนี้ค้างชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สร้างหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้าเพื่อให้เด็กได้เล่าเรียนอย่างภาคภูมิ และวางระบบให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลระบบการศึกษาแทนกระทรวง ตามแนวคิด บ้านŽ วัดŽ โรงเรียนŽ

รวมทั้ง ดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมระบบการเรียนการสอนแก่โรงเรียน ครู และเด็กเยาวชน เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เพราะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความพร้อมด้านองค์ความรู้และบุคลากร

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำประเด็นสิทธิสตรี ให้ความรู้เด็กและเยาวชนหญิงเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนแต่ง  หรือการป้องกันการข่มขืน และประกันความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น

ขณะที่พรรคเก่าแก่อย่าง ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชู 10 นโยบายด้านการศึกษา คือ เบี้ยเด็กเข้มแข็ง โดยเด็กแรกเกิดจนถึง 8 ปี

จะได้รับเงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า, ทำศูนย์เด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพดีทั่วประเทศ, โครงการอาหารเช้าและกลางวันฟรี สำหรับเด็กอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

Advertisement

จัดหลักสูตร English for All โดยเจ้าของภาษาเน้นทักษะการสื่อสารตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล, ปรับหลักสูตรเพื่อโลกอนาคต เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ, นโยบายเรียนฟรีระดับอาชีวศึกษา เน้นพัฒนาฝีมือ จบมีงานทำ, แจกคูปองการศึกษาตลอดชีวิต เพิ่มทักษะและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ประชาชนทุกช่วงวัย

คืนครูให้นักเรียนลดภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน, จัดตั้งกองทุน Smart Education เพื่อสนับสนุน Social Enterprise และ Startup ด้านการศึกษา รวมถึงการนำเทคโนโลยี EdTech (Education Technology) เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน และการสอบ ให้มีประสิทธิภาพ และการกระจายอำนาจจากกระทรวงสู่โรงเรียน

โดยย้ำว่า นโยบายการศึกษาไม่ใช่ประชานิยม แต่คือสวัสดิการ ที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่เป็นจุดเริ่มการพัฒนาประเทศ

ด้าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ชูนโยบายเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ เช่น Video Conference, One-Laptop-per Child, Course Ware ฯลฯ เน้นการให้ทุนการศึกษา และการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครองและช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสได้เรียนต่อ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานทางการศึกษา โดยการเร่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาให้ได้มาตรฐาน และมีความเท่าเทียมกันของโอกาส ที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาต่างๆ ของประเทศให้ได้มีมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษา

ส่วน พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เน้นพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน โดยผลักดันทั้งในแง่กฎหมาย บุคลากร และงบประมาณให้รัฐสามารถจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพแก่ประชาชนโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ

ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาเชิงคุณภาพทั้งในและนอกสถานศึกษาให้สอดรับกับบริบทในแต่ละท้องถิ่นได้ในทุกมิติ โดยผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอิสระและมีศักยภาพในการดูแลจัดการศึกษาตลอดชีวิตในท้องถิ่นของตนได้อย่างต่อเนื่อง จัดให้มีแหล่งเรียนรู้ เครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลายทั่วถึงทุกพื้นที่ สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนทุกกลุ่มวัย

เพิ่มอำนาจให้แก่ อปท.และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมในการจัดการศึกษาทุกระดับ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบฐานข้อมูลสาธารณะขนาดใหญ่ (Open-Big Data) ที่ทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมใช้ เป็นต้น

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์นโยบายแต่ละพรรค ที่เปิดตัวออกมาว่า เท่าที่ดูภาพรวมนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคไม่ได้มีความโดดเด่นเท่านโยบายด้านเศรษฐกิจ อีกทั้ง ยังไม่เห็นพรรคใดชูนโยบายที่จะเข้ามาช่วยแก้วิกฤตด้านการศึกษา หรือเน้นปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง การกำหนดนโยบายยังขาดงานวิจัยหรือศึกษารายละเอียดที่ชัดเจน

นโยบายการศึกษาแต่ละพรรค ถือว่าไม่ผ่าน เป็นเรื่องเฉพาะด้าน บางพรรคเน้นเรื่อง กยศ. บางพรรคเน้นปรับหลักสูตร มีเพียง 3 พรรค ที่พอจะเข้าท่า คือพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการจัดทำนโยบายอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังเน้นไปในทางประชานิยมมากกว่า ทำเป็นเรื่องสวัสดิการ

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล ก็ยังมองไม่เห็นอนาคตความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษา ส่วนพรรค พปชร.นั้น ตลอด 5 ปีที่เป็นรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ จึงไม่มั่นใจว่า หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลอีก จะทำอะไรได้มากขึ้นหรือไม่Ž อาจารย์สมพงษ์ให้ความเห็น

ดังนั้น ก่อนจะถึงวันเข้าคูหากาบัตร ผู้มีสิทธิมีเสียงยังพอมีเวลาตัดสินใจ เพราะนโยบายแต่ละพรรคล้วนมีจุดอ่อน และจุดแข็ง แม้ไม่มีพรรคใดสมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็ไม่ถึงขั้นมองข้ามความสำคัญด้านการศึกษา เป็นวิจารณญาณแต่ละคนที่จะกาบัตรเลือก ส.ส.จากพรรคไหนให้มาบริหารประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image