พลิกประวัติศาสตร์! อ.ศิลปากรเตรียมเปิดคำอ่านจารึก “ปลายบัด”-แง้มนามเทพเจ้า“ภัทเรศวร”เผยปริศนาอาณาจักรขอม(คลิป)

ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ

คืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนวคิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่พักและร้านค้า

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จะจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ซึ่งเปิดให้ร่วมงานฟรีในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. โดยมีวิทยากรได้แก่ รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหวิทยา , ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกภาษาเขมรโบราณ, ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณดี คณะโบราณคดี , นางสาว ภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร , นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี นางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี

ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ในงานเสวนาครั้งนี้ ตนจะนำเสนอคำอ่าน คำแปล และการตีความจารึกปราสาทปลายบัดครั้งใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากนักวิชาการอีก 2 ท่าน ที่เคยอ่านไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะชื่อของเทพเจ้าที่ปรากฏในจารึก ซึ่งสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักเขมรโบราณ กล่าวคือ นายชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร อ่านไว้ว่า “จันทเรศวร” ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าที่ไม่เคยพบมาก่อน

ส่วนนักวิชาการเชื้อชาติกัมพูชาที่ทำงานในสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ประเทศฝรั่งเศสอย่าง Savaros Pou อ่านว่า “วัชเรศวร” ซึ่งเชื่อมโยงได้ถึงความเชื่อในพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้อ่านจารึกหลักนี้ พบว่า พยัญชนะต้นของคำดังกล่าวไม่ใช่ อักษร จ. หรือ ว. แต่เป็น ภ. ดังนั้น ชื่อเทพเจ้าควรเป็น “ภัทเรศวร” ซึ่งก็คือพระศิวะ เทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู

Advertisement

“จารึกปราสาทปลายบัดพบ 2 หลัก อายุราว พศว.15 หลักสำคัญคือหลักที่มีชื่อกษัตริย์ซึ่งออกพระบรมราชโองการ ชื่อขุนนาง รวมถึงเทพเจ้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บอกถึงความเชื่อทางศาสนาของผู้คน ความจริงมีนักวิชาการ 2 ท่านอ่านไว้แล้ว โดยคำแปลส่วนหนึ่งตรงกัน แต่ส่วนสำคัญต่างกัน คือชื่อเทพเจ้า ซึ่งสำคัญต่อการตีความเรื่องศาสนา อาจารย์ชะเอม อ่านว่า จันทเรศวร ส่วนSavaros อ่านว่า วัชเรศวร ซึ่งลากเข้าพุทธ นิกายวัชรยาน แต่ผมเห็นว่า อักษรขึ้นต้นไม่ใช่ ว หรือ จ แต่เป็น ภ น่าจะอ่านว่าภัทเรศวร ภัทร แปลว่า พระผู้เจริญ เป็นชื่อที่ใช้เรียกพระศิวะ ซึ่งแสดงถึงการนับถือศาสนาพราหมน์ฮินดู ไม่ใช่พุทธ จึงเป็นการตีความที่แตกต่างคนละศาสนากันเลย นอกจากนี้ยังค้นพบประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนั้นด้วย” ผศ.ดร.กังวลกล่าว

อาจารย์ศิลปากร ยังกล่าวอีกว่า จารึกเขาปลายบัด 2 หลัก สร้างหลังจากการสร้างพระพุทธรูปประมาณ 200 ปี กล่าวถึงพระบรมราชโองการ เป็นลักษณะคำสั่งพิเศษ ว่าห้ามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเก็บส่วยภาษี ไม่ต้องขึ้นกับเจ้าเมืองท้องถิ่น ให้คนเหล่านี้ดูแลศาสนสถาน เป็นเหมือนคำสั่งส่วนกลาง พระบรมราชโองการสมัยก่อน เป็นสิ่งสูงสุดที่คนต้องทำตาม ใครทำลายจารึก ต้องถูกผ่าอก ลงโทษรุนแรง น่าสนใจตรงชื่อคนสั่ง คือ “ศรีมหิธรวรมัน” ซึ่งนักประวัติศาสตร์หาว่าเมือง “มหิธรปุระ” อยู่ที่ไหนในภาคอีสานของไทย ดังนั้น ตนเชื่อว่าคงอยู่บริเวณนี้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image