‘หมอธี’ ชี้ฟื้น ‘ครูใหญ่’ นำของดีกลับมา ด้าน ‘กมว.’ ยันกม.เปิดช่อง เรียกอย่างไรก็ได้ เผยไม่ยกเลิก‘ศึกษานิเทศก์’

‘หมอธี’ ชี้ฟื้น ‘ครูใหญ่’ แทน ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ นำของดีกลับมา ด้าน ‘กมว.’ ยันกม.เปิดช่อง เรียกอย่างไรก็ได้ เผยไม่ยกเลิก ‘ศึกษานิเทศก์’

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธาน เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จาก “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเป็น “ครูใหญ่” ว่า ตนไม่ขอออกความคิด แต่อยากถามว่า จะเถียงกันเรื่อง เปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นครูใหญ่อีกหรือ ทำไมไม่มองว่าการเปลี่ยนนี้คือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านมาการศึกษาไทยพลาดเพราะเปลี่ยนคำเรียกเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีหน้าที่ อำนวยการ อำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับโรงเรียนพร้อมกับเอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้ความเป็นครูนั้นหายไป และความใกล้ชิดกับนักเรียน และห้องเรียนนั้นหายไป แต่ขณะนี้กำลังจะนำครูใหญ่ กลับเข้ามา เพื่อต้องการให้ครูใหญ่มีประสบการณ์สอน ต้องลงมาแนะนำครู และกลับมาใกล้ชิดห้องเรียนเหมือนเดิม

“ตอนนี้เรากำลังจะเอาของดีกลับขึ้นมา ผมเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งที่นักวิชาการพูดเหมือนที่ผมพูดคือ เราจะมาเถียงเรื่องนี้กันทำไม มุ่งช่วยปฏิรูปการศึกษา ผมไม่อยากเถียง ใครอยากแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็เชิญ” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้าน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังเข้าใจผิดเรื่องคำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเป็น ครูใหญ่ เพราะที่จริงแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ได้เปิดช่องให้ โดยกำหนดว่าให้มีคำเรียกครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ หรือจะเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) สามารถกำหนดชื่อเรียกอื่นได้

“อีกทั้งการเรียกครูใหญ่ กำหนดไว้เฉพาะโรงเรียนรัฐเท่านั้น โรงเรียนเอกชนสามารถเรียกอย่างอื่นได้ ซึ่งทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและครูใหญ่นั้น ตามร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดรูปแบบการทำงานไม่ต่างกัน ที่ต้องเปลี่ยนเพราะปัจจุบันผู้อำนวยการโรงเรียนคิดอย่างเดียว ว่าไม่ต้องสอนหนังสือ เมื่อขาดแคลนครูไม่ลงไปสอนกลับบริหารอย่างเดียว ต่างจากอดีตที่มีครูใหญ่แล้วเมื่อโรงเรียนขาดแคลนครู ครูใหญ่จะลงไปช่วยเหลือทันที และใน ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เขียนไว้ชัดเจนว่าผู้ที่มาเป็นครูใหญ่ต้องเคยเป็นครูและเคยเป็นผู้ช่วยครูใหญ่มาก่อน ถึงจะเป็นครูใหญ่ได้” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้ยกเลิกตำแหน่งศึกษานิเทศก์จริงหรือไม่ นายเอกชัย กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นความสำคัญกับตำแหน่งศึกษานิเทศก์ โดยกำหนดว่าให้ส่วนราชการจัดให้มีศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้ความสามารถในการแนะนำ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินการของสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยเป็นครู ผู้ช่วยครูใหญ่ หรือครูมาแล้วระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนด แต่จะเตรียมยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์จริง ซึ่งก็มีเสียงทักท้วงออกมาในกลุ่มศึกษานิเทศก์ไม่อยากให้ยกเลิกใบอนุญาตฯ เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องการขอเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งตนไปทำความเข้าใจแล้วว่าการการยกเลิกใบประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ นั้นไม่มีผลต่อการขอหรือเลื่อนวิทยฐานะแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image