คุรุสภาเล็งประกาศเว้นตั๋ว ‘98 สาขา’ สอบครูช่าง

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือร่วมกันมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ตัวแทนคณะครุศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อทำความเข้าใจกรณีคณะกรรมการคุรุสภา ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูช่าง หรือครูวิชาชีพ ที่สอนในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เนื่องจากสถานบันที่เปิดสอนในคณะดังกล่าวมีความกังวลว่า หากเปิดกว้างให้ใครก็ได้มาสมัครเป็นครูช่าง จะไม่มีคนเข้าเรียน ซึ่งตนได้ทำความเข้าใจ โดยมหาวิทยาลัยไม่ได้คัดค้าน แต่ขอให้มีการพัฒนาทักษะความเป็นครู ในช่วงนี้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สามารถเข้ามาช่วยจัดอบรมให้กับคนกลุ่มนี้ได้ โดยขอให้แต่ละแห่งไปจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดอบรมที่ชัดเจนเข้ามาให้ทางกมว.พิจารณาอีกรอบ

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากทางสอศ. เตรียมจะจัดสอบครูผู้ช่วยในช่วงเดือนเมษายน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทางคุรุสภาจะประกาศยกเว้นสาขาที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตฯ จำนวน 98 สาขา ให้คนทั่วไปสามารถมาสมัครสอบและบรรจุเป็นครูได้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 แต่หลังจากบรรจุแล้ว จะต้องเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาความเป็นครู  ทั้งนี้98 สาขาที่เตรียมจะประกาศยกเว้นใบอนุญาตฯ เป็นเพียงการประกาศชั่วคราว โดยหลังจากสอศ. จัดสอบและบรรจุครูช่างในรอบนี้เรียบร้อยแล้ว คุรุสภาจะประกาศยกเลิกใบอนุญาตฯ ครูช่างทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและมติคณะกรรมการคุรุสภา

“หลังจากครูช่างกลุ่มนี้ สอบผ่านแล้วจะต้องเข้ารับการอบรม และจะได้รับใบอนุญาตฯ ตามระเบียบเดิมไปก่อน  การยกเลิกใบอนุญาตฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศใช้ข้อบังคับอย่างเป็นทางการ  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้บอร์ดคุรุสภาพิจารณา”นายเอกชัยกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นชอบให้เปลี่ยน ใบอนุญาตฯ มาเป็นใบรับรองความเป็นครู โดยให้กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…นั้น แม้จะไม่สามารถบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันในรัฐบาลนี้ แต่ทางรัฐบาลก็เร่งให้กฤษฎีกาจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ส่วนจะนำร่างดังกล่าวไปดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image