ดนตรีกับธรรมะ

อิสระจริงๆ …

อิสระจากการทำ ไม่ใช่ทำแบบอิสระ

อิสระจากรูปแบบ ไม่ใช่รูปแบบที่ไม่มีรูปแบบ

อิสระจากหลักการ ไม่ใช่หลักการที่อิสระ

Advertisement

อิสระจากกระบวนการ ไม่ใช่กระบวนการที่อิสระ

อิสระจากวิธีการ ไม่ใช่วิธีการที่อิสระ

อิสระจากความคิด ไม่ใช่คิดแบบอิสระเรื่อยเปื่อย

Advertisement

อิสระจากการปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติแบบอิสระ

อิสระจากจิต แล้วจิตจะเป็นอิสระ

อิสระจากใจ แล้วใจจะเป็นอิสระ

อิสระจากความอิสระ แล้วจะอิสระ

ไม่ใช่อิสระแบบอิสระ เพราะ “อิสระไม่มีแบบŽ”

บทความที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เพียงแค่รู้” ของ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ ทำให้ผมรู้สึกอึ้งและงงอยู่สักพักใหญ่ หลังจากนั้นผมถึงได้ร้อง อ๋อ!!! มันเป็นอย่างนี้เอง … ความอิสระ

ถึงแม้ว่าบทความของพระอาจารย์จะกล่าวถึงการปฏิบัติธรรม แต่หลายครั้งที่ผมได้ยินได้ฟังคำสอนของพระอาจารย์ ผมมักจะนำคำสอนของท่านมาคิดตรึกตรอง หรือนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมมีความผูกพันด้วย และหนึ่งในหลายสิ่งที่ผมผูกพันด้วยเป็นเวลานานนั้นก็คือ ดนตรีแจ๊ซ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ดนตรีแจ๊ซกับความอิสระนั้นเป็นของคู่กัน

พระอาจารย์สอนและแนะนำอยู่เสมอว่า รูปแบบและแนวทางการปฏิบัติธรรมนั้นมีหลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ไม่มีรูปแบบที่สำเร็จรูป และไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าหากฝึกปฏิบัติตามรูปแบบนี้แล้วจะบรรลุธรรม เพราะแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกบุคคล มีพื้นฐาน และประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนฝึกปฏิบัติแบบนี้แล้วสำเร็จผล แต่อีกคนหนึ่งฝึกปฏิบัติด้วยวิธีการเดียวกัน อาจไม่บรรลุผลสำเร็จก็เป็นไปได้ อาจเป็นเพราะรูปแบบการปฏิบัติแบบนั้นไม่ถูกกับจริตของเขา การปฏิบัติธรรมที่ถูกนั้นต้องมีความอิสระ เบา สบาย ไม่ควรมีความเครียด ไม่ควรรู้สึกอึดอัด เพราะหากปฏิบัติแล้วมีความรู้สึกว่าลำบากทั้งกายทั้งใจ เหมือนถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้นจะนำไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ได้อย่างไร

เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติธรรม การอิมโพรไวส์ (Improvisation) หรือการด้นสดของดนตรีแจ๊ซนั้น ก็ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว นักดนตรีแจ๊ซแต่ละคนควรพยายามหาหนทางการเล่นที่เป็นของตนเอง เพราะดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่แสดงออกถึงความรู้สึกเฉพาะตัว จึงไม่มีใครสามารถเล่นเหมือนกันได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความแตกต่างระหว่างการเล่นดนตรีของคนผิวดำกับคนผิวขาว คนผิวดำที่เป็นทาสนั้นถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเท่าเทียมจากสังคม พวกเขาจึงมีวิธีการถ่ายทอดอารมณ์ออกมาทางดนตรีที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งการแสดงออกเหล่านั้นจะแตกต่างกับการเล่นดนตรีของคนผิวขาว ที่ไม่เคยตกระกำลำบากอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนผิวดำริเริ่มและพัฒนาดนตรีแจ๊ซที่เรียกว่า Bebop ด้วยวิธีการเล่นที่ รวดเร็ว ดุดัน สนุกสนาน ทำให้ Bebop ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ถึงแม้คนผิวขาวจะพยายามลอกเลียนแบบการใช้สำเนียง และวิธีการเล่นของคนผิวดำอย่างไรก็ไม่มีทางเหมือน เนื่องจากไม่มีใครสามารถเล่นเหมือนใครได้อย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้น นักดนตรีผิวขาวจึงได้พยายามหาแนวทางการเล่นในรูปแบบของตนเองขึ้นมา จนกลายเป็นดนตรีแจ๊ซที่เรียกว่า Cool Jazz

“อิสระจากการอิมโพรไวส์ ไม่ใช่อิมโพรไวส์แบบอิสระŽ” เพราะการอิมโพรไวส์อย่างอิสระ ไม่มีแนวทาง ไม่มีการศึกษาค้นคว้า และฝึกฝนมาก่อนนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นแบบมั่วๆ ถึงแม้ดนตรีแจ๊ซจะเป็นดนตรีที่ให้ความอิสระกับผู้เล่นมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เล่นจะสามารถเล่นอะไรตามใจตนเองได้ การอิมโพรไวส์ในบทเพลงแจ๊ซทั่วไป จะมีทางเดินคอร์ดที่เป็นเสมือนเส้นทางที่นักดนตรีต้องเดินตาม ซึ่งการเล่นในเบื้องต้น เราควรอิมโพรไวส์ตามทางเดินคอร์ดที่อยู่ในบทเพลงนั้นๆ เพื่อที่เราจะได้เล่นได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน

จริงอยู่ที่การหลุดออกจากเส้นทางเดิมนั้น บางครั้งก็อาจทำให้พบกับเส้นทางใหม่ๆ แต่อย่างน้อยเราก็ควรจะลองเดินตามทางให้ได้เสียก่อน เพื่อป้องกันการหลงทาง และทำให้รู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ตรงไหน…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image