เครือข่าย ‘ผอ.ร.ร.-ครู’ ทั่วปท.ค้าน ‘ครูใหญ่’ อ้างถูกลดศักดิ์ศรี ‘หมอธี’ ชี้ให้สังคมตีความศักดิ์ศรีคืออะไร

เครือข่าย ‘ผอ.ร.ร.-ครู’ ทั่วปท.ค้าน ‘ครูใหญ่’ อ้างถูกลดศักดิ์ศรี ‘หมอธี’ ชี้ให้สังคมตีความศักดิ์ศรีคืออะไร

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายลือชัย ศรีหาคลัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนชัย จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสถานศึกษา – ครูจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ชมรมผู้อำนวยการสถานศึกษา-ครูจังหวัดร้อยเอ็ด ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่… พ.ศ. … โดยขอคัดค้าน ประเด็น ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังนี้ การเปลี่ยนออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู เพราะในอนาคตกลัวว่าสถานภาพของครูจะเปลี่ยนไป อีกทั้งการเปลี่ยนเป็นการออกใบรับรองความเป็นครู จะต้องไปเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงภาคใหญ่อย่างมาก ทั้งนี้ ยังกำหนดให้ศึกษานิเทศก์ ไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ และการเปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นครูใหญ่ อาจจะทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบางส่วนรู้สึกถูกลดตำแหน่ง ลดบทบาทหน้าที่

นายลือชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางชมรมผู้อำนวยการสถานศึกษา-ครู ขอเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังนี้ 1.ให้คงคำว่าใบประกอบวิชาชีพ โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อีกทั้ง ครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ 2.ให้คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 3.ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น และ4.ให้ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ ให้เป็น รองผู้อำนวยการโรงเรียน

“โดยส่วนตัวผมไม่คิดถึงตำแหน่ง แต่ผมคาดหวังการปฏิรูปการศึกษานั้นต้องแก้ต้นเหตุ แต่ทำไมไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ กลับแก้คำเรียกชื่อ เช่น การเปลี่ยนมาเรียกครูใหญ่ แทนผู้อำนวยการโรงเรียน แม้บทบาทหน้าที่ยังคงเดิม แต่ผมมองว่าจะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ของผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนถือเป็นความภาคภูมิใจ ของผู้ดำรงตำแหน่งนี้ อีกทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง คนในชุมชน รับทราบและเรียกตำแหน่งนี้กันหมดแล้ว หากเปลี่ยนคำเรียกรู้สึกเหมือนเป็นการถูกลดตำแหน่ง แต่เรื่องสำคัญที่ค้านมากที่สุดคือ การเปลี่ยนใบอนุญาตฯ เป็นใบรับรองความเป็นครูนั้น เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นครูที่ถือว่าเป็นวิชาชีพขั้นสูง การออกมาร้องเรียนครั้งนี้ หลายคนมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้น เป็นการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้จะประสานกลุ่มครูในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาแนวร่วมต่อไป” นายลือชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ สหพันธ์ครูภาคเหนือ (สคน.) และเครือข่ายครูไทยเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ทำหนังสือถือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง ขอแก้ไขและชะลอการนำเสนอร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่… พ.ศ. … รวมทั้ง สมาพันธ์ครูภาคใต้ และสหพันธ์ครูพิษณุโลก (สค.พล.) ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เช่นกัน

Advertisement

ด้านนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องการเปลี่ยนชื่อเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นครูใหญ่นั้น คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เป็นผู้เสนอ อีกทั้งในกฎหมายกำหนดไว้ดีมาก คือกำหนดให้มีคำเรียกครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ หรือจะเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถกำหนดชื่อเรียกอื่นได้

“ผมไม่อยากให้มาทะเลาะกันเพราะชื่อ ครูจะค้านนั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ แต่อย่าให้เป็นเรื่องขัดแย้งกัน เพราะไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง และผมมองว่าการค้านไม่ค้าน ไม่ถือเป็นประเด็น เพราะขณะนี้ทาง กอปศ.เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอยู่ ซึ่งผมออกแสดงความคิดเห็นแล้ว ว่าเห็นด้วยที่จะให้เปลี่ยนชื่อ ซึ่งก็มีครูบางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ใกล้ชิดนักเรียนมากขึ้น ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น ออกมาบอกว่าการเปลี่ยนชื่อ ถือเป็นการลดศักดิ์ศรี และสังคมจะไปทะเลาะกันเองว่าเรื่องศักดิ์ศรีนั้นคืออะไร” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามก็ ตนมองว่าการเปลี่ยนชื่อเรียกทำให้มีผลต่อการปฏิบัติงานด้วย เพราะคำว่า “อำนวยการ” คือการบริหารจัดการทรัพย์กร มีความเป็นผู้บริหาร และ “ครูใหญ่” จะเน้นเรื่องการเรียนการสอน ถือว่ามีผลต่อการศึกษาอย่างมาก เพราะครูจะใกล้ชิด และลงมาสอนนักเรียน ซึ่งในอดีตตำแหน่งครูใหญ่ มีข้อบังคับว่าต้องปฏิบัติการสอน อย่างน้อย 12 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนมาเรียกผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ต้องปฏิบัติการสอนแล้ว

Advertisement

“ส่วนตำแหน่งครูใหญ่ จะลงมาสอนด้วยหรือไม่ ต้องดูว่ากฎหมายกำหนดอย่างไร แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้กว้างๆ เท่านั้น และที่สุดมีการกำหนดให้เรียกครูใหญ่จริง ต้องมีกฎหมายลูกขึ้นมารองรับบทบาทหน้าที่ของครูใหญ่ ซึ่ง ก.ค.ศ.ต้องไปกำหนดบทบาท หน้าที่ต่อไป ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ผมไม่ทราบ ไม่สามารถตอบได้ ถึงไม่ทันอย่างน้อยก็ได้เตรียมการไว้แล้วเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปสานต่อไปได้” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image