กฤษฎีกาผ่านร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 101 มาตรา

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกอปศ. ว่า นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์  กรรมการ กอปศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสร็จสิ้นแล้ว ล่าสุดมี 101 มาตราเท่าเดิมตามที่ กอปศ.เสนอไป คาดว่าเร็ว ๆ นี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีหนังสือถามมายัง กอปศ. ซึ่งกอปศ.ก็จะมีหนังสือยืนยันว่าเห็นด้วยตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่วนขั้นตอนต่อไปอยู่ที่รัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลผลักดันเรื่องนี้เต็มที่แล้ว

นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญหลัก ๆ  29 ประเด็น อาทิ กำหนดเป้าหมายการศึกษาบนฐานสมรรถนะ แบ่งรายละเอียดเป็น 7 ช่วงวัย จัดระบบหน้าที่และสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาให้มีความชัดเจนและสร้างการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม โดยให้หลักการการจัดการศึกษาของเอกชนว่าต้องเป็นไปโดยไม่แสวงหาผลกำไร เว้นแต่กฎหมายอนุญาตไว้ เอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาทุกระดับ รัฐต้องจัดงบฯให้แก่ผู้เรียนที่ไปนั่งเรียนกับการศึกษาเอกชนให้เพียงพอ ให้ครูเอกชนได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับครูภาครัฐ โดยรัฐอาจจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้ครูเอกชนได้ด้วย

นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนด้วยเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สถานศึกษามีอิสระตามหลักเกณฑ์ แนวทาง เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมการบริหารกระบวนการจัดการเรียนรู้ การบริหารเงิน การใช้จ่าย การบริหารงานบุคลากร การบริหารทรัพย์สิน ซึ่งเงินได้ของสถานศึกษาก็สะสมเป็นของสถานศึกษาได้ภายในหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการไปเจรจากับกระทรวงการคลัง เรื่องจัดซื้อจ้างและบริหารพัสดุ การจัดสรรงบฯให้แก่สถานศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่กำหนดวัตถุประสงค์และไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินขั้นต้น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นและไปกำหนดว่าเงินขั้นต้นต้องเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อแก้ปัญหาสถานศึกษาขนาดเล็ก มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกโดยผู้ปกครอง การศึกษาคนพิการ และผู้ที่มีความสามารถพิเศษ กระจายไว้ในมาตราต่างๆ และให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลได้ เช่น สมัชชาการศึกษาจังหวัด และให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเหลือสนับสนุนอุดหนุน

“ ในร่างกฎหมายยังให้หลักการ วิธีการรับผู้เรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ โดยการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนและการศึกษาภาคบังคับต้องไม่ใช้วิธีการสอบแข่งขัน หรือ คัดเลือกด้วยวิธีการอื่นใด ถ้ามีหากมีผู้เข้าเรียนมากกว่าที่นั่งเรียนให้ใช้วิธีจับสลาก ส่วนระดับ ม.ปลาย กับ อุดมศึกษา การคัดเลือกต้องใช้ผลการเรียนหรือสิ่งที่ได้เรียนมาในช่วงระดับก่อนหน้าเท่านั้น การวัดผลคัดเลือกที่สูงกว่าที่กำหนดถือว่าเป็นการจงใจทำให้บุคคลอื่นเสียหาย” นพ.จิรุตม์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังให้หลักการสำคัญเกี่ยวกับครูและความเป็นครู โดยให้คณะกรรมการนโยบาย กับ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไปศึกษาวิจัยต้นแบบและวิธีการในการพัฒนาผลิตครู และบังคับไว้ในกฎหมายว่าคุรุสภาต้องนำผลการวิจัยไปประกอบกำหนดในมาตรฐานและจรรยาบรรณครูด้วย, ครูที่จัดการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกเว้นอาชีวศึกษา ต้องมี “ใบรับรองความเป็นครู” ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จัดการศึกษาในวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยใบรับรองความเป็นครู ใช้ได้ตลอดภายใต้เงื่อนไขของการได้รับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ให้มี“ครูใหญ่”เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษา และบังคับบัญชาครูในสถานศึกษา โดยครูใหญ่สามารถแต่ตั้ง“ผู้ช่วยครูใหญ่”ในการบริหารได้ตามความจำเป็น ซึ่งผู้ช่วยครูใหญ่ อาจไม่ใช่ครูก็ได้ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image