นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชี้ ‘โพธิสัตว์ประโคนชัย’ จิ๊กซอว์สัมพันธ์ไทย-เขมร ยก เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในอุษาคเนย์

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

คืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรม ศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนว คิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่ พักและร้านค้า

ล่าสุด คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จะจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ซึ่งเปิดให้ร่วมงานฟรีในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.

รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ประโคนชัยมีความสำคัญเชิงวิชาการสูงมาก เพราะเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ในโลกโบราณ และที่สำคัญคือค่อนข้างน่าเสียดายที่พบมากมาย แต่ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแม้แต่องค์เดียว คนไทยรู้จักน้อยมาก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่มีงานเสวนา ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ รวมถึงการพูดคุยเรื่องบทบาทของประชาชนที่มีความรู้สึกต่อประติมากรรมชุดนี้

“การค้นพบประติมากรรมชุดนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในเชิงวิชาการ เพราะเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็น่าแปลกใจว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ เช่นภาพถ่าย ไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม นักวิชาการบางท่านเลยเกิดคำถามว่า ที่บอกว่าพบ 300องค์ จริงๆแล้ว พบกี่องค์ และมีการทำเทียมเลียนแบบเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งต้องมานั่งถกกัน นอกนั้นอาจมีเรื่องของบทบาทภาครัฐ และภาคประชาชนว่าควรมีทิศทางอย่างไรต่อกรณีนี้”

Advertisement

รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า ประติมากรรมชุดนี้ เป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เมื่อกว่าพันกว่าปีที่แล้ว เช่น ความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา เพราะรูปแบบศิลปกรรมเหมือนกัมพูชายุคก่อนเมืองพระนคร หรือแม้แต่ภาคกลางและอีสานที่เป็นทวารวดี ก็มีส่วนเติมเต็มได้ รวมถึงประเด็นของพุทธศาสนานิกาย ซึ่งในยุคนั้นเป็นพุทธเถรวาท แต่กลุ่มนี้เป็นพุทธมหายาน แสดงว่าพุทธมหายานในไทย มีบทบาทสูงตั้งแต่ในอดีต

 

เสวนา “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. มีวิทยากรได้แก่ รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหวิทยา , ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกภาษาเขมรโบราณ, ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณดี คณะโบราณคดี , นางสาว ภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร , นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี นางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี

 

พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)
พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image