‘หมอธี’ แนะ ‘ร.ร.-มหา’ลัย’ ประสาน ราชวิทยาลัยจิตแพทย์-กุมารแพทย์ สร้างระบบดูแลสุขภาพจิต ‘น.ร.-น.ศ.’

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พบว่าช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์นักเรียน นักศึกษา กระโดดตึกและเสียชีวิต เรื่องนี้ควรให้ความสำคัญที่เรื่องสุขภาพจิต ซึ่งปัญหาสุขภาพจิต เป็นความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ใช่เรื่องว่าเครียดหรือไม่เครียดอย่างเดียว และผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อมีอาการจะมาบอกให้เขาคิดดีๆ คิดบวก ไม่ได้ผล เนื่องจากสารเคมีในสมองหลั่งออกมาเขาก็จะคิดแต่เรื่องลบ จะต้องได้รับการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน เด็กส่วนใหญ่ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น และมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจิต ส่วนจำนวนเด็กและเยาวชนที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีมากหรือไม่นั้น ตนไม่มีข้อมูล แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดในการเรียน ดังนั้น สถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงมหาวิทยาลัย ควรต้องมองเห็นความสำคัญในมิติสุขภาพจิตโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมกันสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตเด็กในโรงเรียน

“ที่ผ่านมาผมได้พยายามสื่อสารเรื่องนี้ไปที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วย แต่ไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะเวลาคนมองเรื่องนี้ ก็มองว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น เครียด หรือทำไมอ่อนแอ แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องมองให้ลึกซึ้งในเรื่องของสุขภาพจิต เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัย ก็ต้องให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิต ครูเองก็ต้องคอยสังเกต เพราะคนที่คิดจะฆ่าตัวตายทุกคน 3 ใน 4 จะบอกคนใกล้ชิด จะแสดงออกว่าจะทำ หรือทิ้งร่องรอย ดังนั้น ถ้าจับสังเกตคนใกล้ชิดได้ ต้องกล้าถามว่าเขามีความคิดนี้หรือไม่ เมื่อได้คำตอบก็รีบช่วย ขณะเดียวกันก็สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่ยอมกินข้าว แยกตัวไม่เข้าสังคม กิจกรรมอะไรก็ไม่ทำให้มีความสุข ถ้าเป็นแบบนี้ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ต้องคอยดูแล หรือถ้าใช้คำพูด เช่น โลกนี้ไม่น่าอยู่ อยากตาย มีการเตรียมตัว เหล่านี้ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์ก็จะมีกระบวนการดูแล ซึ่งพ่อแม่ หรือคนกว้างๆอาจจะไม่รู้” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image