เปิดชีวิตพิสดาร ‘ครูฉ่ำ จำรัสเนตร’ ปรมาจารย์การเลือกตั้ง ส.ส.เมืองคอน 5 สมัย

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือสนพ.มติชน ฉลับล่าสุด ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2562 นำเสนอชีวิตพิสดารของ “ปรมาจารย์การเลือกตั้ง” ครูฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส.เมืองคอน 5 สมัย โดยได้นำเสนอทุกแง่ทุกมุมของชีวิตท่านไว้อย่างน่าสนใจ

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปรมาจารย์การเลือกตั้ง
เบื้องแรกแห่งประชาธิปตัย
ครูฉ่ำ จำรัสเนตร (พ.ศ.2441-2521)
ส.ส.เมืองคอน 5 สมัย

เผยแพร่รัฐธรรมนูญ
เผยแพร่และแผ่นำ รัฐธรรมนูญใหม่
ชี้แจงแถลงไข กะนิกรนครเมือง
ให้ทราบยุคลความ ขณะยามสยามประเทือง
ปกครองระรองเรือง ริระบอบประชาชน
มาเริ่มประเดิมก่อน ณ นครฯ นุถิ่นตน
แพร่ก่อนซิก่อนคน นระอื่นจะดื่นมี
ครูฉ่ำ จำรัสเนตร
เส้นทางของประชาธิปไตยของประเทศไทยแม้จะเดินทางมาใกล้แตะ 90 ปีในอีก 3 ปีข้างหน้า หากตลอดระยะกาลเวลาดังกล่าว ยังคงดำเนินไปด้วยอุปสรรคนานัปการ นอกเหนือจากรูปธรรมจากสรรพเภทภัยโดยเฉพาะเผด็จการทหารที่บั่นทอนผลัดกันทำรัฐประหาร หรือนามธรรมในการปลูกฝังชุดความคิดเรื่องความไม่พร้อมทุกองคาพยพของประเทศนี้ต่อระบอบใหม่ จนถึงขั้นสร้างภยาคติต่อนักการเมืองและโมหาคติกับวิธีการคัดสรรตัวแทนจากมวลชน กระทั่งลามปามถึงขั้นปฏิเสธวิถีอันนำมาซึ่งเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ ผ่านเครื่องมือสำคัญเช่น “การเลือกตั้ง” ปั้นปดวาทะประชดประชันเฉกเช่นว่าเสี้ยวเวลาไม่กี่นาทีในคูหาเลือกตั้งมิใช่ทุกอย่างสำหรับนิยามของประชาธิปไตย
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงของตัวระบอบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมืออันสำคัญและดีที่สุดเพื่อคัดกรองสรรหาบุคลากรชั้นเลิศสุดจากปวงชนอย่างชอบธรรมเพื่อเข้าสู่สภาบริหารประเทศ ชีวประวัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากชนชั้นสามัญชนจำนวนมหาศาลล้วนถูกกวาดทิ้งจากความทรงจำของผู้คนในสังคม ดั่ง ส.ส. อันเป็นผลผลิตจากการปฏิวัติ 2475 รุ่นแรกๆ ที่พอจะเหลือพื้นที่ในความทรงจำ มากท่านที่เป็น ส.ส.จาก “ภาคอีสาน” ดังเช่น “เตียง ศิริขันธ์” “ถวิล อุดล” “ทองอินทร์ ภูริพัฒน์” “จำลอง ดาวเรือง” ที่ยืนต่อสู้เคียงข้างกับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จนประสบโศกนาฏกรรมในบั้นปลายจากการเผชิญภัยเผด็จการ ขณะที่ในรุ่นๆ เดียวกันนี้เมื่อกล่าวถึงตัวแทนจาก “ภาคใต้” เมื่อรุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามนี้ มี ส.ส.อยู่ท่านหนึ่งที่ชีวิตการเมืองอุดมไปด้วยสีสันแพรวพราว
อดีตครูประชาบาลผู้ก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่ง ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ และได้รับการยกย่องกล่าวขานตั้งแต่ระดับ “กวีการเมือง” จนถึงทับถมหยามหมิ่นว่า “คนบ้า” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น นามว่า “ฉ่ำ จำรัสเนตร”

ปฐมบท
นายฉ่ำ จำรัสเนตร เป็นบุตรคนเดียวของ นายช่วย จำรัสเนตร และ นางปริก (สกุลเดิม ชนะภัย) เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2441 ที่บ้านหัวถนน ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมรสกับ นางสมศิริ จำรัสเนตร มีบุตรี 1 คน ชื่อ น.ส.จันทร์ทิพย์ จำรัสเนตร

 

Advertisement

การศึกษา
2454-56 โรงเรียนวัดท่ามอญ นครศรีธรรมราช จนจบประโยคประถมศึกษา (ป. 4)

2457-62 โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ นครศรีธรรมราช จบประโยคมัธยมศึกษา (ม.6) และสอบได้นักธรรมเอกในปีเดียวกัน

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว นายฉ่ำก็เดินทางไปผจญชีวิตขึ้นเหนือเข้าสู่กรุงเทพฯ มุ่งใช้ชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า ไปสู่อนาคตที่ไม่อาจคาดหมายได้เมื่อประมาณ พ. ศ. 2470

Advertisement

ในพศ. 2473 ขณะทำงานเป็นพนักงานห้ามล้อรถไฟ นายฉ่ำได้เริ่มถูกท้าทายด้วยการเผชิญความอยุติธรรมจากพนักงานรักษารถ นายแม้น พูนเรือง เมื่อโดนกล่าวหาว่า แอบหยิบพุทราในเข่ง จากขบวนรถมารับประทาน จนเป็นเหตุให้ถูกตัดเงินเดือนจาก 20 บาทเหลือ 15 บาท โดยไม่ได้รับเรียกไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ความขัดแย้งกับบุคคลดังกล่าวลามปามจนถึงเป็นการทะเลาะวิวาทในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์วิวาทชกต่อยกันบนรถไฟจนท้ายสุดนายฉ่ำจำต้องถอดเครื่องแบบพนักงานห้ามล้อรถไฟจากการ “บู๊บนรถไฟ” ครั้งนั้น

หลังจากนั้น นายฉ่ำเข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลโรงเรียนเทศบาล วัดชนะสงคราม อำเภอพระนคร จึงกลายเป็นครูที่ใครก็เรียกกันติดปากว่า “ครูฉ่ำ” ห้วงเวลานั้น ครูน้อม อุปรมัย (พ.ศ. 2454 2526) ได้เขียนการหาลำไพ่เลี้ยงชีพเสริมของครูฉ่ำไว้ว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2473 ข้าพเจ้าเป็นลูกเสือ เข้าไปร่วมชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพฯ มีเพื่อนชี้ให้ดูครูฉ่ำกำลังขายน้ำแข็งอยู่ในบริเวณสวนสราญรมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ชุมนุม ข้าพเจ้าเข้าไปทักทายในฐานะชาวเมืองเดียวกัน ครูฉ่ำไม่ขาย แต่กลับเลี้ยงน้ำแข็งแก่เราทุกคน และบอกว่าเงินเดือนไม่พอกิน ต้องเที่ยวหาลำไพ่อย่างนี้แหละ ข้าพเจ้านึกชมอยู่ในใจว่าครูฉ่ำเป็นนักต่อสู้ชีวิตคนหนึ่ง คิดว่าคนอย่างนี้ จะต้องไปไกลสักวันหนึ่ง”

 

ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง
24 มิถุนายน 2475
ในหนังสือคำไว้อาลัย ครูฉ่ำ จำรัสเนตร บรรยายปฏิบัติการเมื่อเช้าวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ที่ “ครูฉ่ำ” ได้ร่วมไว้ว่า

“เมื่อเช้าตรู่ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากที่คณะราษฎรจับกุมผู้ที่ทำการขัดขวางต่างๆ มากักบริเวณไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะราษฎรก็ส่งหน่วยประชาสัมพันธ์ออกแจกจ่ายคำแถลงการณ์แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อแจ้งให้ทราบถึงจุดประสงค์และขอความร่วมมือจากประชาชนนั้น ครูฉ่ำในเครื่องแบบผู้กํากับลูกเสือก็ได้เข้าอาสาขอคำแถลงการณ์ปึกใหญ่ๆ เที่ยวแจกแก่ประชาชนอย่างไม่รู้จักเหนื่อย หมดแล้ววิ่งไปขอมาใหม่ ส่วนใหญ่ขอจากนายเรือเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จนเป็นที่พอใจของนายทหารทั้งหลายที่ครูฉ่ำเข้าไปช่วยงานสำคัญนี้ด้วย เสร็จจากการแจกคำแถลงการณ์แล้ว ครูฉ่ำ ก็อาสาช่วยงานอื่นอีกในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม อยู่ในชุดลูกเสือไม่ยอมกลับบ้าน จนครูฉ่ำสามารถโอนหรือลาออกจากครูเข้าราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มในตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการชั้นตรีซึ่งเป็นสัญญาบัตรนับเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่จะเปิดประตูเข้าสู่วงการการเมืองในอนาคต ครูฉ่ำได้มีโอกาสพบปะและรู้จักคนสำคัญหรือคนชั้นหัวกุญแจของชาติมาตั้งแต่วัวาระนั้น จากฐานะ “คนนอก” มาเป็น “คนใน” ที่ใกล้ชิดกับคนผู้มีอำนาจบริหารประเทศคือเกือบทุกๆ คน”
สารคดีการเมืองโดย “เกียรติ-กงจักร” ได้ให้รายละเอียดเสริมไว้ดังนี้

“เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พอตอนสายการปฏิวัติในด้านการยึดอำนาจจากคณะรัฐบาลเก่าก็เรียบร้อยด้วยดี เช้าวันนั้นโรงเรียนต่างๆใ นพระนครประกาศหยุดเรียนอย่างกะทันหันแทบทุกโรงเรียนมีโรงเรียนวัดโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของการปฏิวัติ ครูของโรงเรียนนั้นหัวแหลม เห็นช่องทางจะหาความดีความชอบได้ด้วยการปฏิวัติแทนที่จะหยุดโรงเรียนให้เด็กนักเรียนกลับบ้าน เมื่อเด็กนักเรียนมาที่โรงเรียน ครูส่วนมากก็ให้นักเรียนกลับบ้าน แต่ครูโรงเรียนที่กำลังกล่าวนี้ไม่ยักให้นักเรียนกลับบ้านเพื่อหยุดการเรียน กลับบอกให้นักเรียนเข้าแถวเพื่อรอเวลาที่ครูจะพาเดินแถวไปยังที่แห่งหนึ่ง

เมื่อนักเรียนได้เข้าแถวเรียบร้อยแล้ว ครูหัวดีผู้นั้นก็เป็นผู้นำหน้านักเรียนเดินแถวไป มีผู้ถามว่าจะพานักเรียนไปไหน ครูผู้มีปัญญาคนนั้นก็ตอบว่า ‘จะพานักเรียนไปช่วยปฏิวัติ…’

ครูคนที่กล่าวพานักเรียนจำนวนหนึ่งไปยืนที่ข้างถนนราชดำเนิน ตอนสะพานมัฆวาฬ คอยไชโยเมื่อพวกปฏิวัติผ่านไปทุกๆ ครั้ง

ต่อมาไม่นาน ครูคนเดียวกันที่กล่าวนี้เอง ก็มีโอกาสพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในฐานที่ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติฝ่ายพลเรือนได้ต้อนรับ ‘ข้าราชการ’ ครูผู้นี้ตามสภาพของผู้ที่ให้การสนับสนุนและจากการสนทนาเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยจะไปถูกเส้นกันอีท่าไหนไม่รู้ ครูคนนั้นก็เลยเปลี่ยนอาชีพจากพ่อพิมพ์ของชาติ มาเป็นคนติดหน้าตามหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม…”

หนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง 6 กรกฎาคม 2475” หลังเหตุการณ์ปฏิวัติเพียง 2 อาทิตย์รายงานว่า “การอยู่ยามรักษาการณ์ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม นับแต่เวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ ได้สงบเปนระเบียบเรียบร้อยมา ในตอนกลางวันตั้งแต่เวลาเช้าจนถึง 17 น. คณะราษฎรได้มอบให้เป็หน้าที่ของลูกเสือโรงเรียนต่างๆ ทำการช่วยเหลือทหารเปนส่วนมาก ต่อจากเวลา 17 น. ไปแล้ว เปนหน้าที่ของคณะทหารจนตลอดเวลากลางคืน…นอกจากนี้ยังมีผู้แทนซึ่งสมัครมาช่วยเหลือประจำตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2 คนคือ รองผู้กำกับตรีฉ่ำ จำรัสเนตร ครู ร.ร.มัธยมวัดชนะสงคราม

หลังเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ไม่นาน “ครูฉ่ำ” ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นับเป็น 1 น 7 ผู้ที่ได้ปฏิบัติงานในสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก อันประกอบด้วย หลวงคหกรรมบดี นายปพาฬ บุญ-หลง นายสนิท ผิวนวล นายฉ่ำ จำรัสเนตร นายสุริยา กุณฑลจินดา นายน้อย สอนกล้าหาญ และ นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คนนี้ ได้อาศัยวังปารุสกวันใช้เป็นสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะสำนักงานฯ ไม่มีงบประมาณ ทางการเพียงจัดเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ทุกมื้อเท่านั้น

 

“สอบตกเลือกตั้ง”
ครั้งแรกของสยามประเทศ
15 พฤศจิกายน 2476
การเลือกตั้งครั้งแรกของเมืองไทยอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 จำนวน ส.ส.ประเภท ที่ 1 จากทั้งประเทศ 78 ท่าน โดยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านผู้แทนตำบล ในครั้งนั้น “การเมืองเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญสำหรับตนเองและส่วนรวม ครูฉ่ำตั้งใจจริงที่จะอุทิศตัวเพื่องานระดับชาติมาตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว…ครูฉ่ำก็สมัครด้วยเป็นครั้งแรก แต่บรรดาผู้แทนตำบลยังไม่รู้จักจึงลงบัตรให้ ร.ต.ท.มงคล รัตนวิจิตร เป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนครูฉ่ำก็หกคะเมนเป็นครั้งแรกในทางการเมือง”
หลังจากกระโดดเข้าสู่วงการการเมืองแล้ว เกือบจะเรียกได้ว่าครูฉ่ำเสพติดการเมือง หรือหายใจเข้าออกเป็นการเมืองอยู่ตลอดเวลา และมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับต่อไปนี้ พ.ศ.2476 ประจำสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา พ.ศ. 2477 ประจำแผนกสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย และ พ.ศ.2479 หัวหน้าแผนกการเมือง สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

 

ผู้แทนราษฎร
จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 สมัย (พ.ศ.2480-2501)
การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของสยามประเทศเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 นับเป็นครั้งแรกที่เป็นการหย่อนบัตรเลือกผู้แทนโดยตรง ครูฉ่ำได้กลับมาลงแข่งขันจนประสบชัย และยังคงได้รับความไว้วางใจจากชาวเมืองคอนรวมทั้งสิ้น 5 สมัยตลอดชีวิตการอยู่ในการเมืองสนามใหญ่ 20 ปีเศษ นับจากครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 และครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500

สังเขปประวัติการเลือกตั้งนับจากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการสิ้นสุดอำนาจของสมาชิกกลุ่มคณะราษฎณเมื่อถูกรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 25 ปีนี้ การทำงานของรัฐบาลล้วนมีตัวแทนจากปวงชนอย่างต่อเนื่องนับจากการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 (ไม่ได้เลือกตรง แต่ผ่านผู้แทนตำบล) และกำหนดวาระทุก 4 ปีครั้ง มีการเลือกตั้งทั้งสิ้น 9 ครั้งโดย 8 ครั้งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทที่ 1 มีเพียง 1 ครั้งเป็นการเลือก “พฤฒิสภา (รัฐธรรมนูญ 2489)” และอีก 1 ครั้งเป็นการเลือกตั้งเพิ่มจำนวน ส.ส.เมื่อ พ.ศ. 2492 เมื่อตัด 2 ครั้งดังว่าไป มีเพียง ส.ส.1 ท่านที่ได้รับการเลือกตั้งทุกครั้ง จำนวน 7 สมัยในยุคคณะราษฎรนี้ ผู้นั้นคือ “เลียง ไชยกาล” แห่งจังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อนับจาก 7 การเลือกตั้งดังกล่าว “ครูฉ่ำ” สามารถชิงชัยจากการเลือกตั้งเข้ามาถึง 4 สมัย กล่าวคือ “ครั้ง 1” ในยุคของพระยาพหลฯ พ.ศ.2480 (ยุบสภาใน 1 ปี) และ “ครั้ง 2” ในสมัย จอมพล ป. สมัยแรก พ.ศ.2481-87 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวาระที่ยาวนานสำหรับ ส.ส.สมัยนี้จากปกติ 4 ปี เนื่องจากอยู่ในช่วงภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่มีการขยายอายุสภาเดิม 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เมื่อ พ.ศ.2485 และ 2487 ครั้นเมื่อสงครามยุติเมื่อ พ.ศ. 2488 “ครูฉ่ำ” โดนเล่นงานในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่างปลายปี 2488 ถึงต้นปี 2489 และกลับฟื้นคืนชีพพร้อมกับการเกาะเกี่ยวอำนาจของ จอมพล ป.สมัยสอง ที่จับมือกับขุนทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมร่วมรัฐประหารล้มล้างสหายผู้ก่อการ 2475 สายอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดย “ครูฉ่ำ” ได้รับ เลือกอีก 2 สมัยหลัง คือ “ครั้ง 3” พ.ศ. 2491 และ “ครั้ง 4” พ.ศ. 2500
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 ครูฉ่ำพลาดการเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้อย่างไร ฤ ดังจะเป็นครั้งที่มีเรื่องเล่าว่า “มีอยู่ครั้งหนึ่งถูกตัดสิทธิ์ที่เมืองนครฯ ในปีถัดไปครูฉ่ำก็ไปสมัครที่เมืองเชียงใหม่ แม้ไม่ได้แต่ก็ไม่ถูกริบซึ่งผู้สมัครชาวเมืองเชียงใหม่แท้ๆ ที่สมัครพร้อมกันถูกริบกันหลายคน มีการตำหนิว่า ครูฉ่ำบ้า คนเมืองนคร ก็บ้า ครูก็เลยเว้นการสมัครส.ส. เมืองนครฯ สมัยหนึ่ง แต่ไปสมัคร ส.ส.ที่เชียงใหม่แทนโดยได้รับการชักชวนจาก นายทองดี อิสระชีวิน ครูฉ่ำ ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.เชียงใหม่แต่ถูกคัดค้านจากบรรดาผู้ที่แพ้เลือกตั้งว่าย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่เชียงใหม่ไม่ครบกำหนดตามกฎหมายก็เลยหลุดไป มิฉะนั้นครูฉ่ำจะได้โด่งดังทั้งเหนือและใต้”

ส.ส.วาระสุดท้าย “ครั้ง 5” วันเกิดภายหลังการยึดอำนาจ จอมพล ป. โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสิ้นสุดลงหลังการรัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 20 ตุลาค 2501 เมื่อจอมพลเผด็จการผู้นี้ประกาศยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และลมล้างวิถีทางรัฐสภา นำมาซึ่งการสิ้นสุดการเลือกตั้ง ส.ส.ในประเทศไทยที่ทอดระยะเวลายาวนานอีก 10 กว่าปีต่อมา ยังผลให้บทบาททางการเมืองของ “ครูฉ่ำ” จำต้องถูกระงับไป ซ้ำร้ายเจ้าตัวยังถูกดำเนินคดีในเรื่อง “กบฏ” จนถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2503-08 และมิได้มีชื่อหวนกลับมาในวิถีทางการเมืองอีกแต่อย่างใดตราบสิ้นอายุขัยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2521

 

อัตชีวประวัติ บันทึกโดย
“นายฉ่ำ จำรัสเนตร”
ประวัติในขณะที่กำลังรับราชการในตำแหน่งการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
1.ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2480 อยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 9 เดือน สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ได้ยื่นสมัครเข้ารับราชการในตำแหน่งประจำแผนกการเมือง สำนักเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พอดีรัฐบาลประกาศเปิดสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในปี 2481 บังเอิญทางกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการตามเดิม รัฐบาลประกาศเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2481 นั้น จึงได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งก็ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามเดิม
2.ได้รับราชการในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2481-88 โดยอยูู่ในพรรคสนับสนุนท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม
3.สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ เลิกใช้รัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2475 ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจับเป็นอาชญากรสงครามและข้าพเจ้าก็ถูกจับเป็นอาชญากรสงครามคนที่ 9 ในกรณีที่กล่าวหาว่าสนับสนุนท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ใช้ลัทธิเผด็จการ โดยระบอบการปกครองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 นั้นเอง
4.ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นคดีต้องหาเป็นอาชญากรสงครามพร้อมกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยื่นใบสมัครกับเข้ารับราชการตามเดิมใน พ.ศ. 2489 ต้นปี แต่ทางราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการตามเดิม เมื่อพ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหาร โดยมี ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า และข้าพเจ้าก็ได้ทำการนี้ด้วยทางหนึ่งเหมือนกันเพื่อสนับสนุนให้ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลตามเดิม
5.ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหารสำเร็จ เป็นรัฐบาลตลอดมาเมื่อ พ.ศ. 2490 และประกาศเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าได้เข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้สนับสนุนให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลตลอดและข้าพเจ้าอยู่ในพรรคการเมืองธรรมาธิปัตของ ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตลอดมาในบัดนี้
นายฉ่ำ จำรัสเนตร ผู้บันทึก 6 มีนาคม 2496

 

เก็บเรื่องเล่า “ยุทธวิธีเลือกตั้ง” ของ ส.ส.ฉ่ำ
“การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของ นายฉ่ำ จำรัสเนตร มักจะมีวิธีการแปลก และเป็นวิธีการที่ใครๆ เห็นกันว่าบ้ามากกว่าดี แต่ความบ้าที่ใครๆ มองเห็นกันนั้นเป็นประโยชน์แก่การเลือกตั้งของ นายฉ่ำเป็นอย่างมาก”
เกร็ดเทคนิคการเมืองของ “ครูฉ่ำ” ถือว่าแพรวพราวจนเป็นเรื่องเล่าขานอย่างน่ารักน่าชัง ดังเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับบุคคลสำคัญ เช่น กับเจ้าคุณพระยาพหลฯ

“ครั้งหนึ่ง เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มาตรวจราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณ พ.ศ.2479 ซึ่งก่อนหน้าที่ครูฉ่ำจะได้รับเลือกตั้งครั้งแรก ตอนนั้นยังคงรับราชการอยู่สํานักนายกรัฐมนตรี ครูฉ่ำร่วมขบวนนายกรัฐมนตรีมาด้วยซึ่งมาโดยขบวนรถไฟ รถด่วนหยุดที่สถานีร่อนพิบูลย์ พอเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรีจะก้าวลงบันไดรถไฟสู่ชานชาลาสถานีครูฉ่ำ ปราดขวางหน้านายกฯ กล่าวว่าให้ท่านนายกฯ เราอยู่สักประเดี๋ยว รอให้ครูฉ่ำตรวจดูความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของท่านนายกฯ เสียก่อนจึงจะลงมาได้ และแล้วครูฉ่ำก็เดินตรวจหน้าแถว ตำรวจพลเรือน และประชาชนทั่วไป จนตลอดหมดแล้ว วิ่งกลับมารายงานเจ้าคุณนายกฯ ว่าเรียบร้อยแล้วลงมาได้ พฤติการณ์ครั้งนี้ชาวเมืองคอนยกนิ้วยอมรับว่าครูฉ่ำนี้เก่งแท้ คือ กั้นทางบันไดนายกฯ เจ้าคุณพหลฯ ได้ คนแก่คนเฒ่าถึงกับอุทานออกมาว่า ‘นี่แหละไอ้ฉ่ำ ลูกพ่อ ต่อไปต้องเลือกให้เป็นผู้แทน'”

 

กับปรีดี พนมยงค์
“…และระหว่างหาเสียงก่อนหน้าจะได้รับเลือกตั้งครั้งแรกนั้น ครูฉ่ำแสดงความสำคัญ โดยนำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้วออกมาหาเสียงที่เมืองคอน เที่ยวตะเวนหาเสียงอยู่พักหนึ่งแล้วก็โทรเลขถึงหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเงินหมดแล้ว ขอให้ส่งด่วน พอคราวนี้กระจายออกไปเท่านั้นชาวเมืองคอนก็บอกกล่าวไปเป็นเสียงเดียวกันว่า ครูฉ่ำนี้แกสำคัญจริงๆ ถึงขนาดหลวงประดิษฐ์ส่งเงินมาให้สมัครผู้แทนฯ ดังนี้แล้วจะมีใครบ้างที่จะไม่เลือกครูฉ่ำ เป็นอันว่าครูฉ่ำชนะลอยลำ”

ในด้านกลเม็ดเคล็ดวิชาขณะลงพื้นที่หาเสียงกับชาวบ้าน เล่ากล่าวกันว่า “ในการรวมคนเพื่อจะกล่าวปราศรัยกับประชาชนนั้น ครูฉ่ำจะไปตามที่ชุมนุมชนต่างๆ แล้วจะกล่าวพูดจนเกือบเป็นเสียงตะโกน ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘โหน้ง หน่าง โหน่งน็อก ส้มแก้วไข่คว็อก ยิกควายเข้าคอก ตัวผู้แล่นออก ตัวเหมียแล่นเข้า’ กล่าวคำซ้ำๆ กัน จนเด็กๆ แถวนั้นมารุมล้อมและผู้ใหญ่ก็ตามมาจับกลุ่มกันได้ที่ดีแล้วครูฉ่ำก็จะกล่าวปราศรัย โดยการโจมตีรัฐบาลหาว่าไม่รักษาความสะอาดและอื่นๆ ตามแบบฉบับเสร็จแล้วก็หยิบไม้กวาดไม้ไผ่ที่เตรียมมา ออกมากวาดบริเวณจนเตียนสะอาด เป็นวิธีการหาเสียงของครูฉ่ำ ซึ่งมีหลายแบบจนคนอื่นเขาเป็นแบบไม่ได้”

 

กับ พระ
“ก่อนเลือกตั้ง…อพยพจากบ้านเข้าไปอยู่วัดทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ถึงขนาดที่หลวงพี่ออกบิณฑบาตในเวลาเช้าครูฉ่ำก็แบกบาตรตามหลังหลวงพี่ออกไปด้วย เมื่อรับบาตรจากชาวบ้านก็ขอบิณฑบาตคะแนนเสียงจากชาวบ้านต่อหน้าหลวงพี่ วิธีการเช่นนี้ ปรากฏว่าได้ผล”
กับ ชาวนา

“อ้อฉ้ำแกก็จะแต่งตัวเครื่องแบบของผู้แทนราษฎรเต็มยศใหญ่…แกกลับเดินบุกไปตามท้องไร่ท้องนาไปในย่านที่ประชาชนกำลังเกี่ยวข้าวหรือทํานากัน พอไปถึงแกก็ทักทายพี่ป้าน้าอาทั้งหลายที่กำลังทำนาอยู่ พี่แกถอดเครื่องแต่งกายเครื่องแบบผู้แทนราษฎรที่แต่งไปเต็มยศใหญ่เอาแขวนไว้อย่างเป็นที่เป็นทาง แล้วต่อจากนั้นแกก็นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว ถ้าชาวบ้านในย่านนั้นดำนา แกก็ดำนากับเขาด้วย ถ้าชาวบ้านกำลังเกี่ยวข้าว แกก็ลงมือเกี่ยวข้าวกับเขาด้วย ไม่ว่าชาวบ้าน ทำอะไร แกเป็นร่วมมือทำด้วยทั้งนั้น”
กับเด็ก

“เวลาครูไปไหตอนหาเสียงเดินเท้าตามท้องที่ พอเจอเด็กๆ ก็จะทักทายพูดคุยอย่างดีพร้อมกล่าวว่า ตัวท่านเป็นเกลอกับพ่อของเด็กคนที่คุยด้วย พร้อมทั้งฝากไปว่า ให้ไปบอกพ่อด้วยนะว่าเกลอฉ่ำคิดถึงว่างๆ จะไปเยี่ยม เด็กก็เอาข้อความนี้มาบอกพ่อ ยิ่งตอนพ่ออยู่กับคนอื่นๆ หลายคน ก็พูดดังๆ คนทั่วไปก็ได้ยิน คนที่เป็นพ่อก็ปลื้ม เพราะจะได้ยืดครูฉ่ำได้ประกาศเป็นเกลอกัน เท่านี้ คนๆ นั้นก็ช่วยหาเสียงอย่างมาก เป็นพฤติการณ์อย่างกว้างก็ได้เสียงกว้างด้วย”

 

กับ รัฐมนตรีมหาดไทย
“โดยดึงเอาตำแหน่งรัฐมนตรีมาโฆษณาชวนเชื่อให้กับตัวเอง…เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อกรมทางหลวงแผ่นดินได้สร้างถนนระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับอำเภอปากพนังเสร็จแล้ว ก็เป็นเวลาพอดีกับการเลือกตั้ง…รัฐมนตรีมหาดไทยจะต้องเดินทางจากพระนครไปเปิดถนนสายนี้ด้วยตัวเอง…ออฉ่ำ…เดินทางไปยังอำเภอปากพนัง และได้วางแผนการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการเปลี่ยนแปลงแผนการหรือหมายกำหนดการของรัฐมนตรีมหาดไทยที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยียนโดยไม่ได้บอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด….รู้เรื่องก่อนหน้าเลย แผนการของออฉ่ำก็คือ จัดเตรียมประชาชนที่เป็นสมัครพรรคพวกของตนเองไว้จำนวนหนึ่งพร้อมทั้งรถบรรทุกไว้ยังต้นทางคือต้นถนนที่เปิดใหม่ และในขณะเดียวกันก็เตรียมกระจับปี่สีชอไว้เพื่อบรรเลงการต้อนรับ…ส่วนทางปลายทางก็เช่นเดียวกัน ออฉ่ำเตรียมเครื่องเสียงของตนไว้…” ครั้นพอถึงวันนัดและเวลานัดเมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยมาถึง “เครื่องกระจับปี่สีชอของออฉ่ำที่เตรียมไว้ก็บรรเลงขึ้นเป็นการต้อนรับออฉ่ำเองก็ยืนขึ้นกล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนที่มาต้อนรับอย่างเนืองแน่นว่า ถนนสายนี้ได้สร้างขึ้นโดยรัฐบาล ซึ่งตัวเขาเองในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชคนหนึ่งได้ไปขอให้รัฐบาลสร้างถนนสายนี้ขึ้นเพื่อประชาชนของจังหวัดนี้และในวันที่จะทำการเปิดถนนสายนี้เขาก็ได้ไปเชื้อเชิญท่านรัฐมนตรีมาเปิดถนนด้วยตนเอง…” ทางนี้พิธีแห่แหนและต้อนรับได้รับการนำขบวนโดยคณะของครูฉ่ำ จนถึงปลายทางปากพนัง เป็นการตัดหน้าผู้ว่าฯ และกรรมการอย่างงงๆ ไป

 

กับ คู่แข่งเลือกตั้ง
“มีอยู่คราวหนึ่งครูฉ่ำต้องต่อสู้กับเจ้าพ่อ กับเศรษฐีและนายทหารใหญ่ในการชิงชัยเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีฯ ซึ่งเป็นคราวที่โด่งดังมาก ถึงคราวที่จะต้องวัดดวงกันว่าคะแนนเสียงในเขตตำบลพรหมโลก ถ้าใครมาคนนั้นก็ได้เป็น ส.ส.ลอยลำ ในการนี้ พ.ท.ทอง สิริเวชภัณฑ์ รอง ผบ ทบ 5 นครศรีธรรมราช ลาออกมาสมัคร ส.ส.ท่านทั้งรวยและมีอำนาจมาก คนทั่วไปก็รู้จัก กทหารเกณฑ์ทุกรุ่นก็ออกมาช่วย ท่านได้นำภาพยนตร์กลางแปลง ลูกทุ่งตะวันตกมาฉายที่ตลาดนอกท่า อันเป็นศูนย์ของคนในพรหมโลก มีทางเข้าออกทางเดียว นอกจากนั้นเป็นป่าและเขา คนมาดูหนังกันมืดฟ้ามัวเดินทีเดียว เพราะเป็นหนังใหม่ในกรณีเช่นนี้คะแนนก็ต้องได้ พ.ท.ทอง อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า

ครูฉ่ำได้ไปเดินขอไต้ (ที่จุดไฟให้แสงสว่าง) ในละแวกนั้นและละแวกอื่นได้มากองใหญ่ ก็คงจะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอจวนหนังจะเลิก ครูฉ่ำก็ได้ก่อกองไฟปากทางคนจะออกจากดูหนัง พอคนออกมา ครูก็ร้องตะโกนให้ชาวบ้าน ลูกหลานทั้งหลายเข้ามารับเอาไต้ติดมือไปคนละอัน เพราะเดินกลับบ้านมันมืด งูก็เยอะ ครูเป็นห่วงสวัสดิภาพของชาวบ้านมากกว่าความสนุกสนาน คนก็เฮโลมารับไต้แจกอย่างสำนึกในพระคุณ เพราะไม่มีใครคิดถึงเรื่องกลับบ้านว่าจะกลับอย่างไร เท่านี้ครูก็โกยคะแนนไปเต็มๆ เลย โดยไม่ต้องชักเนื้อ”
ติดคุก 2 ครั้ง “อาชญากรสงคราม” 5 เดือน พ.ศ. 2488-89 และ “กบฏ” 5 ปี พ.ศ. 2503-08

ครูฉ่ำ จำรัสเนตร ต้องประสบชะตากรรม “ติดคุก” ใน 2 ช่วงจังหวะชีวิต คือ ในขณะอายุ 37 ปี ในข้อหาสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนต้องโทษ “อาชญากรสงคราม” และอีกครั้งเมื่อโดนข้อหา “กบฏในราชอาณาจักร” เมื่อสมัยของจอมเผด็จการ “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ขณะอายุ 52 ปี
ครั้ง 1 ถูกขังเป็นอาชญากรสงคราม (พ.ศ.2488-89) ณ เรือนจำลาดยาว (ลหุโทษ-ข้างวัดสุทัศน์)

“เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเสร็จสิ้นลง เมื่อ พ.ศ. 2487 บรรดาผู้นำประเทศฝ่ายอักษะถูกจับกุมขังและถูกแขวนคอไปตามๆ กัน ผู้นำไทยคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะก็ถูกจับ และอยู่ในข่ายที่จะถูกลงโทษตามกฎหมายของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยบรรดาอาชญากรสงครามในครั้งนั้น ก็มีชื่อครูฉ่ำติดกลุ่มเข้าไปด้วยคนหนึ่ง แต่เดชะบุญที่มาขึ้นศาลไทยและกฎหมายไทยไม่มีผลบังคับย้อนหลัง ครูฉ่ำ จึงรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด”

รายละเอียดแง่มุมอื่นๆ สามารถหาอ่านได้ในเล่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image