ครม.ไฟเขียว ‘โนรา’ ขึ้นบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯ ต่อองค์การยูเนสโก

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเอกสารนำเสนอ “โนรา” ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก และ ครม.เห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอโนราในฐานะตัวแทนประเทศไทย เพื่อขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯ เนื่องจากตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กำหนดให้รัฐภาคีนำเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ภายในเดือนมีนาคมทุกปี และจะใช้เวลาพิจารณารายการอย่างน้อย 1 ปี และต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ โดยปี 2562 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกำหนดประชุมสมัชชาสมัยสามัญครั้งที่ 14 วันที่ 9-14 ธันวาคมนี้ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลัมเบีย

“ทั้งนี้ ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 โดยโขนเป็นรายการแรกของไทยที่ได้รับการประกาศให้ขึ้นบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ส่วนนวดไทยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีภายในปี 2562 ส่วนโนราจะเข้าสู่การพิจารณาขึ้นบัญชีในรอบปี 2563 สำหรับเหตุผลที่นำเสนอโนรา เนื่องจากเป็นศิลปะการแสดงการร่ายรำที่มีชีวิตงดงาม ขับร้องโดยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ พร้อมกับดนตรีประกอบจังหวะที่เร้าใจ และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรประณีต มีรากสืบทอดมาจากความเชื่อ และพิธีกรรมของชุมชนในภาคใต้ ซึ่งผู้สืบเชื้อสายโนราจะรวมตัวกันเพื่อบวงสรวง เซ่นไหว้ครูหมอโนรา หรือบรรพบุรุษ และเพื่อขจัดปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย พิธีกรรมโนรานั้น เป็นการเชื่อมต่อชุมชนกับบรรพบุรุษ และสืบทอดโนรารุ่นใหม่ รวมถึง รักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบุคคล และชุมชน และช่วยอำนวยอวยพรให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี” นายวีระ กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันพบว่าโนรามีการสืบทอดศิลปะการแสดงจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัดและพัฒนาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาระดับต่างๆ จากข้อมูลของนักวิชาการพบว่า มีสายตระกูลหลัก 5 สายที่สืบทอดโนราในพื้นที่ภาคใต้ของไทย 1.สายโนราพุ่มเทวา 2.สายโนราแปลก ท่าแค 3.สายโนราแป้น เครื่องงาม 4.สายโนราเติม-วิน-วาด และ 5.สายโนรายก ทะเลน้อย โดยสายตระกูลโนราทั้ง 5 สายสืบทอดความรู้และทักษะมาจาก 12 สายตระกูลในอดีต และจากการสำรวจพบว่า คณะโนราอาชีพในประเทศไทยมี 387 คณะ โดย 278 คณะหรือประมาณ 70% อยู่ใน 4 จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนบประเพณีโนรา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคณะนักแสดงสมัครเล่น และคณะเยาวชนโนรากระจายอยู่ทั่วไปตามสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดทางภาคใต้

สำหรับคุณสมบัติของโนรา ได้ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกในข้อต่างๆ อาทิ ข้อที่ 1.สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 อนุสัญญาฯ เนื่องจากโนราเป็น การแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม โดยเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าฝึกทักษะการแสดงได้ โดยมีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญ ข้อที่ 2 การขึ้นบัญชีเรื่องที่นำเสนอเป็นคุณประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ รับรู้ถึงความมีอยู่ของโนราท่ามกลางมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลาย และร่วมชื่นชมในภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติ และแสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน และช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ได้เข้ามาใกล้ชิด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีความคล้ายคลึง และแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image