จับตา นโยบายศึกษา ‘ชาติไทยพัฒนา’  “เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน”

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ “มติชน” จึงทยอยนำเสนอ โดยเริ่มจากสัมภาษณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งชูสโลแกนว่า “ได้เรียนในสิ่งที่ใช่ ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน ไม่เปลี่ยนไปตามการเมือง”

โดยนายวราวุธ ระบุว่า นโยบายการศึกษาประเด็นแรกที่ทางพรรคให้ความสำคัญคือ เน้นเรื่องการจัดการศึกษาให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิด (0-6 ขวบ) ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการจัดการศึกษาให้แก่เด็กแรกเกิด จะเป็นพื้นฐานติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้นพรรคจะดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศเป็นพิเศษ ส่วนการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ชทพ.จะส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะแม้จะจบการศึกษาไปแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีและความรู้ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงควรต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้มีนโยบายในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะปัจจุบันหากดูผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เช่น ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต นักเรียนที่ได้รับผลคะแนนดี มักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น รวมถึงลดภาระของครู เช่น ภาระด้านการเงิน ภาระงานที่ไม่จำเป็นที่ไม่เกี่ยวกับงานสอน การจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ศักยภาพการสอนของครูหายไป

นโยบายถัดมาคือการกระจายอำนาจโดยใช้เงินงบประมาณ ซึ่งทุกสถานศึกษาจะมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นต้องให้งบประมาณตรงไปยังสถานศึกษา โดยให้กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้พิจารณาการใช้งบประมาณต่างๆ ในโรงเรียน เพราะโรงเรียนและพื้นที่ทราบดีที่สุดว่าต้องใช้เงินไปพัฒนาโรงเรียนด้านไหนบ้าง ซึ่งบางครั้งส่วนกลาง จะตัดสินใจแทนโรงเรียนไม่ได้ เนื่องจากแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

Advertisement

สิ่งสำคัญที่สุด ที่ชทพ.ต้องการทำ ก็คือ ทำให้การศึกษาปลอดการเมือง โดย ชทพ.จะผลักดันให้เกิด “สภาพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ” ขึ้น โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากทุกสถานศึกษาทั้งสายอาชีพ และสายสามัญ รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชน และต้องมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น การผลิตตำราเรียน เป็นต้น ต้องเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย และสภาพัฒนาการศึกษาฯ จะต้องอยู่เหนือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้สภาพัฒนาการศึกษาฯ จะต้องมีแผนพัฒนาการศึกษาในระยะยาว ดังนั้น แม้จะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล กี่รัฐมนตรี นโยบายการศึกษาที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการศึกษาฯ จะเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับศธ. วิธีนี้จะทำให้ปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง

ในส่วนของมหาวิทยาลัย จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบไปแล้วกลับมาเรียนใหม่ได้ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตนเองเพื่อดึงคนกลับเข้ามาเรียนใหม่ อีกทั้งประเทศไทยขณะนี้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแปลว่าคนที่เข้าเรียนจะน้อยลง มหาวิทยาลัยต่างประเทศเริ่มปิดตัวน้อยลง ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยต้องเปลี่ยนวิธีดึงคนที่จบไปแล้ว กลับเข้ามาใหม่ และครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องหมั่นเสริมความรู้ให้แก่ตนเองตลอดเวลา

ส่วนอาชีวศึกษาในประเทศไทย แต่ละจังหวัดควรมีสถาบันอาชีวศึกษาในระดับจังหวัด โดยรวมสถาบันอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยสารพัดช่างมารวมกันเป็นสถาบันเดียว เพื่อรวมเอาทรัพยากร บุคคล อุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ร่วมกัน เพราะบางสถานศึกษา อุปกรณ์มีความพร้อม แต่มีผู้เรียนน้อย ในขณะที่บางสถาบันมีผู้เรียนมาก แต่ขาดอุปกรณ์การเรียน ทั้งนี้เพื่อสามารถกระจาย และสร้างความเท่าเทียม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisement

ส่วนที่นักวิชาการบางส่วน ออกมาให้ความเห็นว่านโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคการเมืองยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาของประเทศนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่นักวิชาการให้ข้อสังเกตมา เราจะได้เชิญนักวิชาการมาให้รายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นของนักวิชาการ กับการปฏิบัติจริงบางครั้งไม่เหมือนกัน ถ้าเอาความคิดของนักวิชาการมาประกอบกับการปฏิบัติของนักการเมืองอาจจะเป็นอะไรที่ลงตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image