คณบดีมาเอง! ‘โบราณคดี’ ชวนถกประเด็น ‘โพธิสัตว์ประโคนชัย’ 22 พ.ค. ย้ำคัด ‘หัวกะทิของชาติ’ ขึ้นเวที (คลิป)

ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

คืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนวคิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่พักและร้านค้า

ล่าสุด คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จะจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ซึ่งเปิดให้ร่วมงานฟรี ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.

ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวว่า งานนี้ทางคณะร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี สำนักพิมพ์มติชน และศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษจัดขึ้น เนื่องจากคณะโบราณคดีเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแห่งเดียวที่สอนด้านโบราณคดีโดยตรง เมื่อเกิดกระแสเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ที่ปราสาทปลายบัดค่อนข้างมาก คณาจารย์มีความเห็นตรงกันว่าควรให้ความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับความเป็นมาของประติมากรรม จึงจัดเสวนาขึ้นโดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลทางวิชาการ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งจารึก โลหวิทยา รวมถึงกฎหมาย ซึ่งเป็นหัวกะทิของประเทศมาให้ความรู้

“กระแสนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่กระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากอเมริกา อาจจะดูว่ากรณีนี้มีแนวโน้มอย่างไร เหมือนและต่างกันหรือไม่ ความรู้แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้สังคมละเลย เพราะเป็นรากฐานของประเทศ อยากเชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วไป ไม่เฉพาะนักศึกษา แต่อยากให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา จะได้ความรู้ด้านโลหกรรม จารึกโบราณคดี และกฎหมาย เป็นภาพรวมทั้งองค์ความรู้”

Advertisement

 

ร่วมงานเสวนาฟรี พร้อมรับแจกคำอ่าน-แปลใหม่ “จารึกปราสาทปลายบัด 2” อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. ห้องประชุม 305 ม.ศิลปากร วังท่าพระ

วิทยากรได้แก่ ผศ.ดร.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหวิทยา, ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกภาษาเขมรโบราณ, ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณดี คณะโบราณคดี, นางสาวภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ, นางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้าฝ่ายนิติการ กรมศิลปากร

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image