กรรมการ มส.หนุน ‘พุทธ-มุสลิม’ คุยลบรอยบาดหมาง สร้างความเข้าใจหลักคำสอนที่ต่างกัน

พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะโฆษก มส.เปิดเผยว่า กรณีนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี เสนอให้ผู้นำองค์กรปกครองสูงสุดของศาสนาพุทธ และอิสลาม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการจัดการกับผู้ที่มีความคิดสุดโต่งทางศาสนา เพื่อป้องกันไม่ให้เผยแพร่ข่าวที่สร้างความเกลียดชัง และแตกแยกระหว่างศาสนานั้น เป็นข้อเสนอที่ดี อาตมาเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะเราต่างเป็นองค์กรปกครองทางศาสนา ควรหารือสร้างปฏิสัมพันธ์กัน จะได้เข้าใจหลักคำสอนที่ต่างกัน ที่สำคัญการหารือกันจะเป็นหนทางลบรอยบาดหมางที่คนบางกลุ่มได้สร้างไว้

พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) กล่าวว่า อาตมามองว่าปัญหาระหว่างศาสนาพุทธ และอิสลาม เกิดมาจากปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้ชาวพุทธในจังหวัดอื่นๆ เกิดความหวาดระแวง เมื่อมีการสร้างมัสยิดขยายไปพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ยิ่งตอกย้ำความหวาดกลัวของชาวพุทธในพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่มีครอบครัวชาวมุสลิมเพียง 3-5 ครอบครัว แต่สร้างมัสยิดที่ใช้งบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาท โดยระบุว่าเพื่อต้อนรับอาเซียน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ทำให้ชาวพุทธในพื้นที่ไม่ไว้ใจ เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายเเดนใต้ ไปเกิดในจังหวัดอื่นๆ

นายชาญณรงค์ บุญหนุน นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า กระแสอิสลามกลืนพุทธมีมานานหลายสิบปี จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดกระแสใดๆ แม้บางประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง จะถูกจับเป็นประเด็นตีความต่างๆ จนกลายเป็นความตระหนก เกิดเป็นความอ่อนไหว ทำให้ชาวพุทธรู้สึกไม่มั่นคง และออกมาต่อต้านการสร้างมัสยิดในจังหวัดต่างๆ รวมถึงต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.เชียงใหม่

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า สถานการณ์ของรัฐไทยในปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าจะเป็นรัฐโลกวิสัย หรือรัฐกึ่งศาสนากันแน่ เพราะถ้าเป็นรัฐโลกวิสัย รัฐจะมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนา โดยองค์กรทางศาสนาต้องแยกจากรัฐเป็นเอกชน ส่วนการมีองค์กรศาสนาที่ขึ้นกับรัฐ ทำให้พระสงฆ์มีอำนาจ มีตำแหน่ง คนมุสลิมก็มีอำนาจ และมีตำแหน่งนั้น เป็นสภาพของรัฐกึ่งศาสนาในปัจจุบัน ส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาในระยะยาวต้องเป็นรัฐที่มีประชาธิปไตย คือเป็นรัฐโลกวิสัย ไม่ใช่รัฐกึ่งศาสนา ไม่เช่นนั้นรัฐจะเป็นเวทีของความขัดแย้งทางศาสนาตลอดไป

Advertisement

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.2 ขึ้นไปนั้น ขอชี้แจงว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มสอนรายวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนประถม และมัธยม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนนับถือศาสนาอิสลามเกินร้อยละ 50 มาตั้งแต่ปี 2518 โดยจัดอยู่ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยในหลักสูตรประถม และจัดเป็นรายวิชาในหมวดสังคมศึกษาในหลักสูตรมัธยมต้น และปลาย ปัจจุบันมีโรงเรียนรัฐที่เปิดสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนา 350 โรง โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image