ขึ้นต้นด้วยลาบหมู จบด้วยการเมือง! อ.โบราณคดีชี้ หมูเครื่องมือชนชั้นนำ เลี้ยงง่าย ไม่ทะเลาะใคร (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพฯ มีการจัดประชุมโต๊ะกลมครั้งที่ 2 ของโครงการมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูง จัดโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักงานกองทันสนับสนุนการวิจัย และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวอภิปรายและวิจารณ์งานด้านพันธุศาสตร์โมเลกุลและชีวสารสนเทศ โดยกล่าวขึ้นต้นว่า ตนชื่นชอบในการรับประทานลาบหมู และเมนูที่ทำจากหมู ก่อนเข้าสู่ประเด็นทางวิชาการโดยระบุว่า หมูสัมพันธ์กับคนโบราณหลายมิติ ทั้งหมูบ้านและหมูเลี้ยง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดที่พบทั่วโลกเก่า โดยยังมีเรื่องท้าทายให้ศึกษาอีกมาก การนำหมูป่ามาเลี้ยงสำคัญมากในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมหาของป่า ล่าสัตว์มาถึงสังคมเพาะปลูก มีการพบกระดูกหมูจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเพื่อใช้ประโยชน์หมูในด้านต่างๆ นอกจากนี้หมูในฐานะสินค้าก็น่าสนใจ โดยเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ เช่น ในปาปัวนิวกินี หมูเป็นสินไหมทดแทนการตาย หากฆ่าคนตายเอาหมูจ่ายได้ หรือสัญญาว่าจะแต่งงานแล้วแต่งไม่ได้ก็ใช้หมูจ่ายสินไหมแทน

“หมูสำคัญมาก เป็นสัตว์ที่ผลิตเนื้อได้ทรงประสิทธิภาพมาก โตไว กินของเสีย แต่กลายเป็นโปรตีน ไขมันสำคัญของคน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ออกลูกหลายตัว อัตราการเจริญพันธุ์สูง ทำให้คนมีอาหารการกิน อีกอย่างหนึ่งที่น่าศึกษาคือ ความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของหมู มีบริบทความหมายเชิงพิธีกรรม เช่น สังคมจีนชัดเจนว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ นำโชค เลี้ยงง่าย ไม่คิดมาก” รศ.ดร.ธนิกกล่าว

Advertisement

ในตอนท้าย รศ.ดร.ธนิก ยังกล่าวถึงหมูกับการเมือง โดยระบุว่า อีลิตหรือชนชั้นนำเวลาจัดงานเลี้ยง หมูเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับงานที่จัดโดยผู้นำชนเผ่า ไม่ว่าจะมีปลา มีไก่ ก็ไม่สำคัญเท่าหมู

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image