‘สพฐ.’ ปลื้มผลประเมิน ‘น.ร.ป.1’ อ่านออกเขียนได้กว่า 70%

‘สพฐ.’ ปลื้มผลประเมิน ‘น.ร.ป.1’ อ่านออกเขียนได้กว่า 70%

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ภาพรวมได้กว่า 70% ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ตนได้กำชับและมอบหมายให้ไปโฟกัสเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กด้วย โดยไปวิเคราะห์ผลการอ่าน รวมถึงคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาเป็นเช่นไร โดยให้ตั้งคำถามถึงปัจจัยในความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่า 30,000 แห่ง จะมีรูปแบบการจัดการที่ต่างกันไป เช่น ในระดับมัธยมศึกษา บางโรงเรียนใช้หลักสูตรสากล โรงเรียนกลุ่มจุฬาภรณราชวิทยาลัย ก็มีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น โรงเรียนภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่สูง ตั้งอยู่ในภาพใต้ ก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ต่างกัน เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ให้รายงานมาที่ตน และตนจะมอบให้ สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ไปวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาคำตอบ

“งานทุกอย่างที่ทำสพฐ.ไม่ได้ตั้งเป้าแค่ได้ทำ หรือทำเสร็จแล้ว เราต้องการผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวนักเรียน ซึ่งถ้าพบว่าสิ่งที่ได้ทำด้วยงบประมาณของราชการ แต่ไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมก็ต้องทบทวนจะทำต่อหรือไม่ หรือทำแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทบทวนวิธีการ หรือวิธีที่ทำแต่ใช้งบฯมากอย่างการนำครูทั่วประเทศมาจัดอบรม ซึ่งเสียค่าพาหนะการเดินทาง อาจต้องหาวิธีการใหม่ เช่น ให้อบรมทางไกล หรือเปลี่ยนที่เขตพื้นที่การศึกษาจัดอบรมครูแทนเพื่อให้ครูไม่ต้องเดินทาง แล้วเงินที่เหลือนำไปให้โรงเรียนไปซื้อสื่ออุปกรณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียน เป็นต้น” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งผลวิเคราะห์เหล่านี้จะออกมาภายในเดือนเมษายน ซึ่งต่อไปหาก รัฐมนตรีว่าการกระศึกษาธิการ (ศธ.) ท่านใหม่หากต้องการอยากรู้ข้อมูล สพฐ.ก็พร้อมนำเสนอได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลนี้ยังสามารถใช้ตอบคำถามสังคมได้ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนสามารถโฟกัสการช่วยเหลือได้ตรงจุด ว่าโรงเรียนใดบ้างที่ต้องการสนับสนุนอะไร เชื่อว่าสิ้นปีการศึกษา 2561 สพฐ.จะใช้ประโยชน์จากการประเมินได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงไม่ใช่ประเมินเพียงรู้ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ประเมินเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image