สช.จัดสรรงบเรียนฟรีแล้ว 70% เฉพาะอุดหนุนรายหัว 2.3 หมื่นล.แนะเอกชนสู้เตรียมอาชีวะด้วยคุณภาพ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา รายการค่าหนังสือเรียน ประจำปีการศึกษา 2561 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 455 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ สช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าหนังสือเรียนเพียง 50% ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับจัดซื้อหนังสือเรียนให้นักเรียนได้ครบทุกคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สช.ได้จัดสรรเงินในส่วนนี้ให้กับโรงเรียนในสังกัดเรียบร้อยแล้ว สำหรับงบรายจ่ายประจำปี 2562 สช.ได้รับการจัดสรรงบภายใต้โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเงิน 27,468,378,300 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน หรือเงินอุดหนุนรายหัว 23,586,784,000 บาท ค่าหนังสือเรียน 1,279,425,800 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 744,910,200 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 710,647,300 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 1,146,611,000 บาท

“สำหรับงบปี 2562 สช.ได้รับการจัดสรรงบ 100% คาดว่าการจัดสรรงบซื้อหนังสือเรียนปีการศึกษา 2562 ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา สช.ได้จัดสรรงบให้กับโรงเรียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 รายการ ยกเว้นเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 แล้ว 2,080 ล้านบาท ให้กับโรงเรียนในสังกัด 3,600 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นการจัดสรรงบให้โรงเรียนไปแล้ว 70% ส่วน 30% ที่เหลือ สช.จะจัดสรรให้อีกครั้งในวันที่ 10 มิถุนายน หลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคเรียนแล้ว และจำนวนนักเรียนคงที่ ส่วนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว สช.จะตรวจสอบรายชื่อนักเรียน และจำนวนนักเรียนเป็นรายเดือน ก่อนที่จะจัดสรรเงินให้โรงเรียนเอกชนทุกเดือน ทำให้โอกาสเกิดนักเรียนผีในโรงเรียนเอกชนน้อยมาก” นายชลำ กล่าว

นายชลำกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่โรงเรียนเอกชนออกมาร้องเรียนเรื่องปัญหานักเรียนลดลง จนต้องปิดโรงเรียนไปหลายแห่งนั้น ขณะนี้ สช.ยังไม่ได้สรุปตัวเลขว่ามีโรงเรียนเอกชนปิดกี่แห่งแล้ว ต้องขอเวลาประมวลข้อมูลก่อน คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะทราบว่าในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา มีโรงเรียนปิดตัวกี่แห่ง ส่วนจำนวนนักเรียนที่ลดลงนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะจำนวนเด็กเกิดลดน้อยลง ดังนั้น โรงเรียนที่อยู่รอดได้คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งตนพยายามจะบอกโรงเรียนเอกชนว่าคุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอดได้ ฉะนั้น โรงเรียนต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ และศรัทธาของประชาชน ถือเป็นทางออกทางเดียวที่ยั่งยืน

“ส่วนที่โรงเรียนเอกชนระบุว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่นักเรียนลดลง เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัด เปิดสอนระดับเตรียมอาชีวศึกษา ที่เทียบเท่าชั้น ม.1-3 โดยเปิดรับนักเรียนที่จบชั้น ป.6 เข้าเรียนนั้น กระทบโรงเรียนเอกชนจริง แต่เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของผู้เรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้ตรงตามศักยภาพ และตรงกับความต้องการของประเทศเป็นหลัก ถ้าโรงเรียนเอกชนต้องการดึงนักเรียนเอาไว้ และไม่สนใจว่าศักยภาพผู้เรียนคืออะไร เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น โรงเรียนควรสนับสนุนนักเรียนว่าต้องการเรียนรู้อะไร มีความถนัด ความสนใจที่จะเรียนรู้อะไร ที่จะนำไปสู่อาชีพที่นักเรียนสนใจ และอยากเป็น ฉะนั้น โรงเรียนเอกชนต้องช่วยกันพัฒนาคุณภาพ ให้นักเรียน และผู้ปกครอง รู้สึกว่าโรงเรียนเอกชนก็มีคุณภาพ ผลกระทบเหล่านี้จะมีต่อไปในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะเด็กเกิดน้อยลงทุกปี” นายชลำ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image