โบราณคดีถก ‘วิกฤตเมืองศรีเทพ’ ไขปมแหล่งน้ำมัน เจาะลึกศิลปกรรมเทียบบุโรพุทโธ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนาหัวข้อ “วิกฤตเมืองศรีเทพ : ความสำคัญทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม”

ผศ.ชวลิต ชาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวว่า แม้ว่าได้มีการยุติการวางฐานหลุมผลิตน้ำมัน STN 2 ที่หมู่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปแล้ว แต่ว่าสังคมยังมีประเด็นคำถาม ว่าศรีเทพมีอะไร จึงเป็นแหล่งที่สำคัญทั้งทรัพยากรและวัฒนธรรม คณะโบราณคดีและศูนย์มานุษวิทยาสิริธร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปะวัฒนธรรม จึงได้จัดงานในครั้งนี้

นายโสภณ พงษ์วาปี นักธรณีฟิสิกส์ กล่าวว่า ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันของจังหวัดเพชรบูณ์นั้นถือว่ามีศักยภาพระดับหนึ่ง แอ่งจะต้องมีความลึกเพียงพอแต่จะต้องไม่มีออกซิเจนเข้าไปทำลายหรือแบคทีเรียเข้าไปกัดกิน โดยอยู่ในระดับความหนาราวกว่า 1,000 เมตรในช่วง 23 ล้านถึง 5 ล้านปี

“เพชรบูรณ์ถูกขนาบข้างไปด้วยภูเขาทั้งสองข้าง มีแอ่งซึ่งสามารถแยกออกมาได้อีก 5 แอ่ง ไม่ขึ้นตรงต่อกันและกัน โดยศรีเทพอยู่ในแอ่งทางด้านล่างสุด ย้อนกลับไปเมื่อประมาณสองร้อยถึงสามร้อยล้านปีก่อน ลักษณะพื้นดินแถวเพชรบูรณ์อาจจะราบเรียบธรรมดาแต่ในช่วงนั้นเกิดแผ่นดินสองแผ่นดินมาชนกัน ในช่วงที่เกิดการชนกันจะมีการเกิดภูเขาเกิดขึ้นมาทั้งสองข้างซ้ายขวา แล้วเปิดแอ่งขึ้นมาจากการที่มีรอยเลื่อนในยุค 25 ล้านปีก่อน จากนั้นน้ำเข้ามาสะสม มีระดับความลึกที่เพียงพอ สิ่งมีชีวิตตายลงมาก็สามารถทับลงมากันเป็นชั้น ๆ ในช่วงแรกคุณภาพของหินกำเนิดน้ำมันอาจจะยังไม่ดี แต่ช่วงต่อมาระดับน้ำเริ่มมีระดับน้ำที่เพิ่มมากขึ้นคุณภาพเริ่มดีขึ้น ซึ่งพบว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพในเรื่องของหินกำเนิดน้ำมัน โดยภาพรวมของจังหวัดเพชรบูรณ์มีศรีเทพอยู่ทางตอนล่าง วิเชียรบุรีอยู่ตอนบน มีภูเขาสองข้างมีการสะสมของชุดหินกำเนิดน้ำมันอยู่ด้านล่าง และมีชุดหินใหม่ที่เป็นชุดหินอ่อนๆ มาปิดทับอยู่ทางด้านบน” นายโสภณกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี นักวิชาการ กล่าวว่า ความโดดเด่นของศิลปกรรมที่ศรีเทพที่ยกตัวอย่างมาพูดในวันนี้ มี 3 หัวข้อ ได้แก่ ศูนย์กลางลัทธิเสาระในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป, ศูนย์กลางลัทธินับถือพระกฤษณโควรรธนะในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป และ เขาคลังนอก : สถาปัตยกรรมจำลองมณฑลและ ประเด็นความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย ศูนย์กลางลัทธิเสาระในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป มีการพบประติมากรรมพระสุริยะกระจายอยู่ 2 พื้นที่ เขมรก่อนเมืองพระนคร และศรีเทพ ศูนย์กลางลัทธินับถือพระกฤษณโควรรธนะในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป ศรีเทพมีประติมากรรมกฤษณโควรรธนะขนาดใหญ่เท่าตัวคนหรือใหญ่ว่าคนที่ค้นพบได้เพียงแค่ที่พนมดาและศรีเทพ และยังมีการค้นพบประติมากรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าพนมดาเสียอีก อีกทั้งยังมีประติมากรรมที่ศรีเทพมีการลอยตัว ที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิคประติมากรที่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปะอินเดียเป็นอย่างดี

รศ.ดร.เชษฐ์ กล่าวอีกว่า เขาคลังนอก เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในศรีเทพ เจดีย์มีระบบการยกเก็จที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะทวารวดี และแผนผังเขาคลังนอกที่มีการยกเก็จ 5 เก็จซับซ้อนที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นชั้นสูงสำหรับพระเป็นเจ้า มีการซ้อนชั้นของฐานปีระมิดขั้นบันได เทียบได้กับบุโรพุทโธกับเขมรสมัยเมืองพระนคร ต่อมามีการประดับด้วยบัญชรหรือประสาทจำลองตามฐานที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะเอเชียอาคเนย์ ซึ่งนิยมกันในศิลปะอินเดียวใต้เท่านั้น เริ่มปรากฏในศิลปัปัลลวะตอนปลายช่วยพุทธศตรรษที่ 14 และนิยมกันมากในศิลปะโจฬะตอนต้นหรือพุทธศตวรรษที่15 และยังมีการจัดวางผังแบบมณฑลตามแบบพุทธศาสนามหายาน สถาปัตยกรรมที่ถูกวางผังจนกลายเป็นdiagram ส่วนความสำคัญของแผนผังมณฑลที่เขาคลังนอกนั้นถือเป็นมณฑลทางสถาปัตยกรรมเพียงแห่งเดียวที่ชัดเจนที่สุดในศิลปะทราวดี มีความซับซ้อนหลายประเด็นที่อาจเทียบได้กับศิลปะเอเชียอาคเนย์ร่วมสมัย และอิทธิพลอันหลากหลายของเขาคลังนอก แสดงให้เห็นการติดต่อ และการรับรู้ความซับซ้อนของศิลปะอินเดียหลากหลายสกุล ของสถาปนิกที่เมืองศรีเทพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image