เสวนา“โพธิสัตว์”สุดคึก อจ.แนะทำ“ดีเอ็นเอ”โบราณวัตถุ-นักวิชาการยันหลักฐานพร้อม“ทวงคืน”-ฝ่ายกม.ชี้ “งานใหญ่”

เมื่อวันที่ 22 พค เวลา 13.00 น ที่ม.ศิลปากร วังท่าพระ มีการจัดเสวนาหัวข้อ ประติมากรรมสำริดจากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ โดยเป็นความร่มมือระหว่างคณะโบราณคดี สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ และสำนักพิมพ์มติชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศคึกคัก มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 300 คน จนเต็มพื้นที่ห้องประชุม บางส่วนสวมเสื้อสกรีนภาพสำนึก 300 องค์ มีนักศึกษา ประชาชนทั่วไป พระสงฆ์ รวมถึงนักโบราณคดี และข้าราชการระดับสูงของกรมศิลปากรเข้าร่วมด้วย อาทิ นายประทีป เพ็งตะโก ผอ. สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา บางส่วนเดินทางมาจากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อร่วมงานเสวนา หน้างานมีการแจกสติ๊กเกอร์ ซึ่งกลุ่มสนับสนุนแนวคิดทวงคืนจัดทำขึ้น มีข้อความว่า “ร่วมรณรงค์มาตุภูมินิวัติ พระโพธิสัตว์กลับไทย สำนึก หน้าที่ คนไทย ทวงคืน พระโพธิสัตว์ปลายบัด 2 ปฏิบัติการทวงคืนพระโพธิสัตว์สำริด 300 องค์ ของปราสาทปลายบัด 2 ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ จากอเมริกาและฝรั่งเศส”

สติ๊กเกอร์สนับสนุนการทวงคืนโพธิสัตว์ จัดทำโดยเพจ "สำนึก 300 องค์" เพื่อแจกในงานเสวนา
สติ๊กเกอร์สนับสนุนการทวงคืนโพธิสัตว์ จัดทำโดยเพจ “สำนึก 300 องค์” เพื่อแจกในงานเสวนา

นายเรืองชัย ทรัพย์นิรินดร์ ตัวแทนจาก “มติชน” กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับคณะโบราณคดีในการจัดงานครั้งนี้ขึ้น โดยนสพ.มติชนมีการนำเสนอข่าวกระแสการทวงคืนโพธิสัตว์ตลอดมา กระแสเรียกร้องสมบัติเหล่านี้กลับคืนมาที่ยังตั้งเดิมเป็นเรื่องสำคัญ ควรกระตุ้นให้สังคมไทยเรียนรู้เรื่องของพลเมืองที่อยู่แถบนี้มากขึ้น โดยร่วมกันศึกษาอย่างลึกซึ้ง เหมือนครั้งการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ตัวแทนจาก "มติชน" กล่าวเปิดงาน
นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ตัวแทนจาก “มติชน” กล่าวเปิดงาน

นักประวัติศาสตร์ศิลป์ “เสียดาย” คนไทยไม่รู้จัก “โพธิสัตว์ประโคนชัย”

รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี กล่าวว่า ประติมากรรมชุดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในโลกยุคโบราณ มีการค้นพบมานานเกือบ 60 ปีแล้ว โดยเกือบทั้งหมดหลุดไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการพิเศษ ให้ความสำคัญราวกับเป็นของชิ้นเอก จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก ขณะนี้มีภาคประชาชนขับเคลื่อนการทวงคืน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญ จึงควรมีการนำเสนอข้อมูลด้านวิชาการ รวมถึงตอบคำถามต่างๆ เช่น สถานที่พบ รวมถึงข้อสงสัยเรื่องของเลียนแบบ ภาพถ่ายพยานหลักฐานไม่มี ทั้งยังมีความขัดแย้งในรูปแบบศิลปะระหว่างสถาปัตยกรรมกับประติมากรรม

Advertisement

นักวิชาการยัน พยาน-หลักฐานพร้อม “ทวงคืน”

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า โพธิสัตว์ประโคนชัย อายุราว 1,300 ปี เป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ตีความคติความเชื่อ และวิถีชีวิตของชุมชนในอดีต นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวต่างชาติ ยอมรับว่าประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัยมีความสง่างาม สัดส่วนลงตัวที่สุด โดยพบกลุ่มประติมากรรมนี้ในแถบโคราช และบุรีรัมย์ มีบทความเผยแพร่ในต่างประเทศจำนวนมาก เช่นงานของนางเอ็มมา ซี บังเกอร์ โดยมีการนำลักลอบนำออกนอกประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งมีการตั้งฐานทัพใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตนได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านแล้วให้ข้อมูลตรงกันว่ามีการลักลอบขุดบนเขาปลายบัดจริง จึงเชื่อว่าประติมากรรมชุดนี้ถูกพบที่ปราสาทปลายบัด 2 เขาปลายบัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนการทวงคืน ตนมองว่าสามารถใช้พยานบุคคลได้ เนื่องจากทั้งหมู่บ้านอยู่ร่วมเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหวังว่ากรมศิลปากรจะทำงานหนักเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตนไม่เข้าใจว่าหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ

“ทั้งหมู่บ้านรับรู้ตรงกันว่ามีขบวนการลักลอบขุดจริง พอนำภาพให้ดู หลายคนยืนยันว่าได้มาจากเขาปลายบัด ศาสตราจารย์บวซซิลิเยร์ เขียนบทความถึงเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ.2510 โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นของอาณาจักรศรีจนาศะ ที่ อ.สูงเนิน จ. นครราชสีมา มจ. สุภัทรดิศ ระบุไว้เช่นกันว่ามี 300 องค์ ในไทยมี 3 องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวหม่อมเจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล และที่คณะโบราณคดี เป็นต้น โดยไม่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทยเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ส่วนตัวเชื่อว่าประติมากรรมกลุ่มนี้ถูกเคลื่อนย้ายโดยคนสมัยโบราณจากอาณาจักรศรีจนาศะมายังปราสาทปลายบัด 2” นายทนงศักดิ์กล่าว

จากซ้าย รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
จากซ้าย รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

 

Advertisement

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี ได้เปิดเผยภาพประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัยที่ถูกระบุว่าเก็บรักษาอยู่ที่คณะโบราณคดีอีกด้วย โดยเป็นประติมากรรมขนาดเล็ก สูงเพียง 22 ซม. ได้รับมอบจากนายดักลาส แลชฟอร์ด ชาวอังกฤษ เมื่อหลายสิบปีก่อน

นักโบราณคดี แนะขุดค้นเพิ่ม-ใช้โบราณวัตถุเทียบเคียง

ดร. ภัคพดี อยู่คงดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า สภาพโดยทั่วไปของปราสาทปลายบัด 2 ในปัจจุบันถูกลักลอบขุดทำลายอย่างมาก ขณะนี้มีการขุดหลุมทดสอบที่ปราสาทปลายบัด 2 เพื่อประมาณการในการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อทำการอนุรักษ์ต่อไป โดยมีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการแล้ว ในเบื้องต้นพบเครื่องถ้วยในวัฒนธรรมเขมร และเศษกระเบื้องมุงหลังคา ส่วนกรณีทวงคืน ตนมองว่าต้องใช้โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นไปช่วยเทียบเคียง อย่างไรก็ตามหลักฐานที่พบในขณะนี้กลับเป็นวัตถุต่างยุคสมัยกับโพธิสัตว์ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทวงคืนได้

ภัคพดี อยู่คงดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี กรมศิลปากร
ภัคพดี อยู่คงดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี กรมศิลปากร

ผู้เช่ยวชาญภาษาเขมร เปิดคำอ่านจารึก “ปลายบัด” -เผยร่องรอยพิธีกรรมโบราณ

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก กล่าวในประเด็นของจารึกที่พบบริเวณปราสาทปลายบัด 2 ว่า มีการพบ 2 หลัก หลักที่ 1 ลบเลือนมาก แต่บอกศักราชและชื่อกษัตริย์ไว้ ส่วนหลักที่ 2 มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีกล่าวถึงพระบรมราชโองการกษัตริย์ โดยระบุว่า ไม่ต้องขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองในท้องถิ่น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือชื่อเทพเจ้า ซึ่งตนได้อ่านใหม่แล้วไม่ตรงกับนักวิชาการ 2 ท่านที่เคยอ่านก่อนหน้านี้คือ นายชะเอม แก้วคล้าย นักอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งอ่านว่า “จันทเรศวร” ซึ่งตนไม่เคยพบชื่อเทพเจ้าองค์นี้มาก่อนเลย จึงไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่ ส่วนนักวิชาการชาวกัมพูชาซึ่งทำงานให้สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ คือ เสาวรส โป อ่านว่า “วัชเรศวร” ซึ่งเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน แต่ตนอ่านได้ว่า “ภัทเรศวร” ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระศิวะ จึงเชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์

ส่วนประเด็นที่ว่าเหตุใดจึงมีการสร้างประติมากรรมจำนวนมากในปราสาทหลังเดียวนั้น ตนได้พบร่องรอยในจารึกซับบาก ซึ่งระบุว่ามีการสร้างพระพุทธรูป 9 องค์ เพื่อป้องกันชวารุกราน ดังนั้น จะเป็นไปได้ว่าในยุคนั้นมีพิธีกรรมสร้างโพธิสัตว์หลายๆองค์

นักโบราณโลหะวิทยา แจงกรรมวิธีหล่อ “โพธิสัตว์” แนะตรวจ “ดีเอ็นเอ” โบราณวัตถุ

รศ. สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา กล่าวว่า ประติมากรรมกลุ่มนี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีหล่อโลหะที่เรียกว่า “ขับขี้ผึ้ง” กล่าวคือ ต้องปั้นหุ่นขี้ผึ้ง แล้วทำพิมพ์ชั้นนอกทับ จากนั้นนำไปเผาจนขี้ผึ้งละลายเหลือพื้นที่ว่างให้เทโลหะลงไป ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กับประติมากรรมที่ซับซ้อน มีรายละเอียดมาก โดยช่างในดินแดนแถบนี้รู้จักกรรมวิธีนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เช่นที่บ้านเชียง ส่วนการทวงคืน นั้นตนมองว่าต้องพยายามมองหาแหล่งที่มาของวัตถุดิบคล้ายกับเป็นการทำดีเอ็นเอของโบราณวัตถุ ประกอบการตีความจากหลักฐานแวดล้อมแล้วเจรจา อาจเป็นแนวทางที่จะได้นำกลับมาจัดแสดงในประเทศไทย โดยการยืมชั่วคราว หรือยืมอย่างถาวร

“โพธิสัตว์ประโคนชัย สะท้อนให้เห็นว่าช่างหล่อโลหะมีความสามารถด้านเทคโนโลยี และการออกแบบ ซึ่งต้องมีช่างที่เฉพาะเจาะจงสร้างงานขึ้นมาโดยมีชุมชน หรือโรงหล่อ ในอนาคตควรมีการตั้งโครงการค้นหาแหล่งผลิต เพื่อศึกษากระบวนการผลิตทั้งหมด เช่นวัตถุดิบ ทั้งทองแดง ดีบุก ตะกั่ว ว่ามาจากไหน ซึ่งแหล่งเหมืองแร่ทองแดงในไทยและเพื่อนบ้านที่สำคัญมีอย่างน้อย 3 แห่งคือ ภูโล้น จ.หนองคาย เขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี รวมถึงเขาพระบาทน้อย จ.แพร่ นอกจากนี้ยังมีแหล่งทองแดงที่สะวันนะเขต สปป. ลาว ซึ่งใช้หล่อกลองมะโหระทึกที่มุกดาหาร ซึ่งอาจนำมาใช้หล่อโพธิสัตว์ประโคนชัยก็เป็นได้ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกล โดยมีวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถวิเคราะห์ได้” ผศ.สุรพลกล่าว

รศ.สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา
รศ.สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา

 

นักกฎหมายชี้ “งานใหญ่” ห่วงศาลไม่ฟังพยานบุคคล แนะหาหลักฐานให้ปึ๊ก

นางสาว มาลีภรณ์ คุ้มเกษม กลุ่มนิติการ กรมศิลปากร กล่าวว่า กฎหมายไทยมีความชัดเจนว่า ห้ามส่งโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งร้อยละ 90 ล้วนเป็นการลักลอบนำออก โดยใช้วิธีสำแดงเท็จว่าเป็นของตกแต่งบ้าน บางครั้งมีการนำไปเก็บไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วจึงนำออกไปประเทศที่ 3 หลายชิ้นไปพบอีกครั้งในยุโรป โดยบริษัทขนาดใหญ่นำออกประมูล กรณีการได้โบราณวัตถุคืนจากต่างประเทศนั้น ไทยเคยได้คืนมาแล้วหลายครั้ง เช่น หลวงพ่อทุ่งเลี่ยง จังหวัดสุโขทัย หายไปตั้งแต่ พ.ศ.2506 กรมศิลปากรติดตามขอคืน สุดท้ายนักการเมืองได้รับเงินจากเอกชนไปซื้อกลับคืนมา สำหรับช่องทางการนำกลับคืนมา ถือเป็นงานใหญ่ มาก เพราะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากศาลมักไม่ฟังพยานบอกเล่า รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีก็เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น

“หลักฐานโบราณคดีเยอะจริง แต่ในเชิงกฎหมาย ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าได้จากโบราณสถานดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะเราเคยถูกกัมพูชาโจมตี เนื่องจากโบราณวัตถุไทย โดยเฉพาะในอีสาน ส่วนหนึ่งเหมือนกับกัมพูชา พยานบอกเล่า ศาลแทบไม่ฟัง หลักฐานทางโบราณคดีก็เป็นการสันนิษฐาน ส่วนกรณีที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทปลายบัด จะสามารถยืนยันในชั้นศาลได้หรือไม่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับภัณฑารักษ์จะตอบศาลอย่างไร โดยเขาอาจบอกว่า แค่ฟังมาก็ได้ ส่วนอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น ยูเนสโกคอนเวนชั่น 1970 นั้น ก็มีปัญหาว่า กรณีที่โบราณวัตถุอยู่กับผู้ซื้อโดยสุจริต คือ ซื้อไปโดยไม่รู้ว่าถูกโจรกรรม ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยคืนให้ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก” นางสาวมาลีภรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายการเสวนามีผู้สนใจซักถามวิทยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศในยุคสงครามเวียดนาม

จากซ้าย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์, กังวล คัชชิมา, มาลีภรณ์
จากซ้าย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์, กังวล คัชชิมา, มาลีภรณ์ คุ้มเกษม 

เสวนาโพธิสัตว์

เสวนาโพธิสัตว์

โพธิสัตว์ ประโคนชัย

โพธิสตว์ ประโคนชัย

ผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งสวมเสื้อมีลายโพธิสัตว์พร้อมข้อความ สึำนึก 300 องค์
ผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งสวมเสื้อมีลายโพธิสัตว์พร้อมข้อความ สึำนึก 300 องค์

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image