‘สพฐ.-สอศ.’ ปลื้มรับน.ร.-น.ศ.ฉลุย ‘สุเทพ’ ตั้งเป้ายอดเด็กพุ่ง 3 แสน ปี’62

‘สพฐ.-สอศ.’ ปลื้มรับน.ร.-น.ศ.ฉลุย ‘สุเทพ’ ตั้งเป้ายอดเด็กพุ่ง 3 แสน ปี’62

เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ภาพรวมเรียบร้อย ไม่มีปัญหาเรื่องการกระทำความผิด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความพึงพอใจ เพราะภาพรวมดีกว่าปีที่แล้ว ไม่มีปัญหาให้แก้มากนัก แต่มีนักเรียนและผู้ปกครองแสดงความกังวลว่า บุตรของตนจะมีที่เรียนหรือไม่ ถ้าลูกสอบไม่ผ่านจะไปเรียนที่ใด มีการรับรอบสามหรือไม่ สพฐ.ต้องไปสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าจะไม่มีการรับรอบสามแล้ว โดยการรับนักเรียนรอบถัดไปของแต่ละโรงเรียน จะเปิดรับตามจำนวนที่เหลืออยู่เท่านั้น ซึ่งขณะนี้โรงเรียนเริ่มรายงานมาแล้วว่าเหลือที่ว่างจำนวนเท่าใด

“อยากฝากถึงผู้ปกครองทุกคนว่า ยังมีที่นั่งเรียนเหลือเป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร สพฐ.จะแจ้งให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะจัดที่เรียนให้ครบทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่จะเป็นโรงเรียนที่หมายปองหรือไม่ แต่ใจผมสนับสนุนให้นักเรียนเข้าเรียนในเขตพื้นที่บริการของตัวเอง เพราะศธ.และรัฐบาล มอบนโยบายให้ สพฐ.ชัดเจนว่าต้องพยายามกระจายนักเรียน และทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพื่อให้นักเรียนไม่เดือดร้อนกับการเดินทางไปเรียน ส่วนข้อกังวลอื่น หากพบจะแก้ไขตามสถานการณ์ เช่น โรงเรียนรับนักเรียนและห้องเรียนไม่พอ หรือครูไม่พอ สพฐ.สามารถจัดเพิ่มห้องเรียน หรือจัดโยกย้ายครูได้ ไม่มีปัญหา ขณะนี้ทราบอย่างไม่เป็นทางการ มีโรงเรียนหลายแห่งยื่นขอขยายห้องเรียน” นายบุญรักษ์ กล่าว

ด้านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า จากการสอบถามวิทยาลัยอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ถึงการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2562 ซึ่งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กำหนดรับสมัคร วันที่ 18-30 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สถานศึกษาพิจารณากำหนดตามความเหมาะสมและให้กำหนดแล้วเสร็จจนถึงวันมอบตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ภาพรวมได้รับรายงานว่า แนวโน้มผู้สมัครเรียนสูงขึ้น หลายวิทยาลัยทั้งอาชีวะรัฐและอาชีวะเอกชน รับได้จำนวนเต็ม 100% ดังนั้นคาดว่าเป้าหมายที่ สอศ.กำหนดไว้ว่าปีการศึกษา 2562 จะต้องเพิ่มผู้เรียนให้ได้ 45% หรือประมาณ 300,000 กว่าคน น่าจะเป็นไปได้ จากเดิมที่ปีการศึกษา 2561 อยู่ที่ประมาณ 230,000 คน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในส่วนการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษาในช่วงชั้นมัธยมต้นว่าอาจจะกระทบต่อการรับนักเรียนนั้น ที่ผ่านมา สอศ.ได้นำร่องจัดการเรียนการสอนเตรียมอาชีวศึกษา ใน 10 วิทยาลัย นักเรียน 479 คน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในร่าง พ.ร.บ. การอาชีวศึกษา พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว กฎหมายอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งถ้ากฎหมายประกาศใช้ ก็จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะมีนักเรียนสนใจมาเรียนนับหมื่นคน

Advertisement

“ส่วนที่โรงเรียนเอกชน มีความกังวลใจการที่ สอศ.เปิดสอนเตรียมอาชีวศึกษาจะทำให้เป็นการแย่งเด็กนั้น ขอชี้แจงว่าไม่ใช่การแย่งเด็ก แต่เป็นการจำแนกเด็กตามความต้องการและความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน การศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่เด็กเมื่อโตระดับมัธยมเขาจะต้องเลือกเรียนตามที่ถนัด เพราะฉะนั้น ผู้เรียนทุกคนก็ต้องการที่เรียน แต่จะเรียนอะไรก็ต้องขึ้นกับความถนัดของตัวเด็กเองด้วย” นายสุเทพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image