‘บอร์ด กพฐ.’ ผุดนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% ชวน ‘เอกชน’ เอื้อสถานที่ช่วยลดหย่อนภาษี 2 เท่า

‘บอร์ด กพฐ.’ ผุดนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% ชวน ‘เอกชน’ เอื้อสถานที่ช่วยลดหย่อนภาษี 2 เท่า

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100 % และไม่ควรนำมาผูกกับงบประมาณ โดยให้สถานศึกษาหาวิธีการในการคุยกับชุมชน หรือสโมสรที่มีสระว่ายน้ำ หรือสระว่ายน้ำของเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง แทนการทำเป็นโครงการในแต่ละปี ซึ่งใช้เงินเยอะมากแต่มีเด็กเข้าร่วมโครงการไม่กี่คน เช่น ในปี 2559 ดำเนินโครงการเด็กไทยว่ายน้ำช่วยชีวิต ใช้งบประมาณ 19 ล้านบาท มีเด็กเข้าร่วมโครงการ 30,000 คน เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ.สามารถจัดงบประมาณสนับสนุน หรือสถานศึกษาสามารถของบประมาณสนับสนุนได้ส่วนหนึ่ง

“วิธีการที่โรงเรียนจะดำเนินการตามนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% อาจจะขอความร่วมมือกับเอกชน เช่น สโมสรที่มีสระว่ายน้ำ คิดค่าว่ายน้ำปกติ 30 บาทต่อคน หากมีเด็ก 2,000 คน ว่ายน้ำ 2,000 ครั้งต่อปี ต้องจ่ายเงิน 60,000 บาท แต่ในความเป็นจริงเมื่อโรงเรียนเข้าไปทำข้อตกลงกับสโมสร ทางสโมสรอาจจะคิดครั้งละ 10 บาทต่อคน ก็จะบริจาคเงินคืนโรงเรียนมา 40,000 บาท ให้โรงเรียนออกใบเสร็จให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเงิน 80,000 บาท ซึ่งจะทำให้เอกชนอยากเข้ามาสนับสนุนการศึกษาซึ่งวิธีการนี้สามารถทำได้เลยไม่ใช่การซิกแซก เพราะผลประโยชน์ลงกับเด็กจริง และไม่เป็นการให้เอกชนแบกภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาสระด้วย ทั้งนี้ ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พยายามหางบประมาณสร้างสระว่ายน้ำชุมชน โดยให้เอกชนเข้ามาบริหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้ จะเก็บค่าว่ายน้ำเท่าใด ต้องผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากท้องถิ่นก่อน ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100%” นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะกรรมการจัดทำและปรับปรุงคู่มือกรรมการสถานศึกษา ซึ่งตามกฎหมายทุกโรงเรียนต้องมีกรรมการสถานศึกษา และเพื่อให้กรรมการสถานศึกษารู้บทบาท อำนาจหน้าที่ของตนเอง เช่น เรื่องงบประมาณควรจะดูแลอย่างไร เรื่องบุคลากรโรงเรียนจะดูแลอย่างไรบ้าง เป็นต้น คู่มือนี้จะเป็นประโยชน์กับโรงเรียนที่ไม่ต้องเข้ามาอธิบายหน้าที่กรรมการสถานศึกษา ทั้งนี้ต้องดำเนินการจัดทำคู่มือให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อจัดส่งให้สถานศึกษา และทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้องอบรมกรรมการสถานศึกษาก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image