‘หมออุดม’ ชี้กฎหมายตั้ง ก.อุดมฯ มีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ คุย 9 ม.รัฐ ดันออกนอกระบบ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “โครงสร้างและภารกิจใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตอนหนึ่ง ว่า คาดว่าเร็วๆ นี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรงวงการอุดมฯ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้ว กฎหมายเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันที ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำโครงสร้างกระทรวงการอุดมฯ รองรับ ซึ่งได้เตรียมการไว้ทุกอย่างแล้ว เพื่อให้กระทรวงใหม่พร้อมทำงาน ทั้งนี้ การจัดตั้งกระทรวงใหม่ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี ถือว่าเร็วมาก โดยกระทรวงใหม่ออกแบบให้เป็นกระทรวงขนาดเล็ก มีบุคลากรประมาณ 1 แสนคน มีงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะงบวิจัย ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยตั้งเป้าหมาย 1.5% ของ GDP ในปี 2563-2564 หลังจากปี 2564 ตั้งเป้าหมาย 2% ของ GDP อย่างไรก็ตาม งบวิจัยของประเทศถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับงบวิจัยของต่างประเทศที่ได้ 5-6%

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ส่วนโครงสร้างกระทรวงการอุดมฯ จะมีทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน มีเป้าหมายให้สำนักงานปลัดเป็นหน่วยงานราชการเพียงหน่วยงานเดียวภายในกระทรวงการอุดมฯ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ มีแผนปรับสถานะ เช่น มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ จะพยายามผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบ ล่าสุดได้หารือกับมหาวิทยาลัยเดิม 9 แห่ง เพื่อวางแผนเตรียมการออกนอกระบบ เพราะรัฐบาลนี้มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่การออกนอกระบบนั้น มหาวิทยาลัยต้องพร้อม มีความเข้มแข็ง และยืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มี 3-4 แห่ง ที่พร้อม อย่างไรก็ตาม แม้ออกนอกระบบแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนงบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยคล่องตัวในการบริหารจัดการ ส่วนกรมวิทยาศาสตร์บริการ กำหนดให้ 3 ปี เปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) อยู่ระหว่างเจรจาว่าหากโอนไปอยู่กับกระทรวงพลังงาน จะเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น

“กระทรวงใหม่จะมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ดูแลภาพรวมของการจัดสรรงบด้านการวิจัยทั้งหมดของของประเทศ รวมทั้ง ยังสนับสนุนงบวิจัยเอกชนได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ใน 3 ปีแรก งบวิจัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นงบด้านวัสดุ และครุภัณฑ์ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ยังให้มหาวิทยาลัยเสนอขอรับการจัดสรรงบได้โดยตรงที่สำนักงบประมาณ จากนั้นงบทุกอย่างจะอยู่ที่กองทุนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้จะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยอย่างมาก เพราะรัฐบาลจะสนับสนุนงบเป็นก้อน ถือเป็นช่องทางพิเศษให้มหาวิทยาลัยได้เงินเพื่อสร้างงานวิจัย” นพ.อุดม กล่าว

Advertisement

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นท้าทายเกี่ยวกับงานวิจัย ที่กระทรวงการอุดมฯ ต้องดูแลรับผิดชอบ มีประเด็นสำคัญ เช่น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และสังคม สร้างการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพระหว่างการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน โดยทุกหน่วยงานบรูณาการ และใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ บุคลากรมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัวผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ประเทศ อาจารย์ผู้สอนต้องพัฒนา มีความคิดใหม่ๆ สอนนักศึกษา และมีทักษะชีวิต สามารถดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image