‘ปธ.ทปอ.มทร.-นักวิชาการ’ หนุนปรับข้อสอบทีแคส ลดซ้ำซ้อน-ค่าใช้จ่าย แนะโละใช้คะแนนโอเน็ตด้วย

วิโรจน์ ลิ้มไขแสง

‘ปธ.ทปอ.มทร.-นักวิชาการ’ หนุนปรับข้อสอบทีแคส ลดซ้ำซ้อน ช่วยลดค่าใช้จ่าย แนะโละใช้คะแนนโอเน็ตด้วย

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงข้อสอบการคัดเลือกบุคคลกลางเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวิชาและการสอบ และลดค่าใช้จ่ายในการสอบ โดยข้อสอบที่ปรับปรุงนั้นจะเพิ่มการวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งคาดจะพัฒนาเพื่อใช้เป็นข้อสอบระดับชาติปีการศึกษา 2565 นั้น ว่า ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ ทปอ.มีแนวคิดในการปรับปรุงการออกข้อสอบใหม่ ที่จะใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เพราะข้อสอบในปัจจุบันตนเห็นว่ามีเนื้อหาวิชาที่มีความซ้ำซ้อนกันมาก ทั้งยังมีข้อดีคือจะช่วยให้ผู้ปกครองลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนแนวคิดที่จะจัดทดสอบที่เน้นทักษะที่ต้องมีในอนาคตนั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่จะต้องมีเครื่องมือที่มีความชัดเจนว่าสามารถวัดทักษะต่างๆ ของนักเรียนได้

“เพราะนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ผมมองว่าปัจจุบันนักเรียนในระดับ ม.ต้น และม.ปลาย ขาดการมีส่วนร่วม และขาดจิตสาธารณะในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งทักษะเหล่านี้โรงเรียนที่ถือเป็นต้นทางในการผลิตนักเรียนก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ควรจะต้องเปิดสอนเพื่อให้นักเรียนมีทักษะเหล่านี้บ้าง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด รูปแบบการสอบที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าเนื้อหาการสอบทั้งเรื่องวิชาการ และการวัดทักษะในอนาคตนั้นเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่า ทปอ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาวิเคราะห์ข้อสอบ และจัดทำรายละเอียดเรื่องนี้แน่นอน” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจำนวนนักเรียนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงจริง ตามที่ ทปอ.ได้สะท้อนปัญหาว่า ขณะนี้ถือเป็นวิกฤตของอุดมศึกษาไทย ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่าจำนวนที่นั่งเรียน มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรับวิกฤตต่อไป ทั้งนี้ต้องมาศึกษาบริบทด้วยว่าสาเหตุใดที่จำนวนนักเรียนลดลง จากการศึกษาของฝ่ายวิชาการ มทร.อีสาน พบว่าในพื้นที่ภาคอีสาน จำนวนนักเรียนที่เรียนในระดับ ม.ปลายมีจำนวนมาก แต่เมื่อถึงระดับปริญญาแล้ว พบมีนักเรียนเข้ามาสมัครเรียนน้อย เพราะบางส่วนออกมาทำงานหารายได้เลี้ยงดูตนเองแล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรอบรมต่างๆ ที่เรียบจบแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้

“แม้นักเรียนจะลดลงจริง แต่มองว่าไม่ได้กระทบกับการรับของมหาวิทยาลัยในกลุ่มของ มทร. มากนักเพราะทั้ง 9 มทร. เน้นการรับตรงมากกว่า ไม่ได้ขึ้นกับระบบทีแคสเท่าไหร่ จึงไม่กระเทือนมากนัก นอกจากนี้ที่ประชุม ทปอ.มทร.ได้ประชุมหารือถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังหลายครั้ง ว่าทุกมหาวิทยาลัยควรปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ การเรียนการสอนให้เน้นออนไลน์ เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”นายวิโรจน์ กล่าว

Advertisement

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มติดังกล่าวของ ทปอ. แสดงให้เห็นถึงข้อดีของ ทปอ.ที่รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ระบบทีแคส และปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการปรับปรุงข้อสอบทีแคส ลดความซ้ำซ้อน และการสอบ เพราะเรื่องนี้เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนั้นการปรับปรุงระบบทีแคสให้ดีขึ้นทุกปีๆ เป็นหลักการที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาวะวิกฤตเรื่องจำนวนเด็กเกิดลดลง จำนวนเด็กหันไปเรียนสายอาชีพมากขึ้น การเข้ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญลดลง และเรื่องการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเองเพื่อก้าวสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าการปรับทีแคส ช่วยปลดล็อกการปฏิรูปการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ปรับทีแคสอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องปรับปรุงไปถึงเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) กระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรในมหาวิทยาลัย การเตรียมอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการแก้ไขทั้งระบบ โดยเฉพาะการใช้คะแนนโอเน็ตเพื่อการสอบเข้าในระดับต่างๆ เป็นการใช้คะแนนโอเน็ตผิดวัตถุประสงค์ และเป็นแนวคิดที่อาจจะเหมาะสมในสังคมไทยเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นความหวังดีที่จะให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนครบหลักสูตร จึงผูกคะแนนโอเน็ตกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และบังคับเด็กด้วยการสอบ แต่ปัจจุบันความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยลดน้อยลง จึงควรลดความสำคัญของคะแนนโอเน็ตลง หากไม่ต้องใช้เลยได้จะยิ่งดี เพราะถ้าข้อสอบวัดทักษะในอนาคตสามารถวัดทักษะของเด็กได้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ต ที่สำคัญเป็นการลดภาระของครูในโรงเรียนลงอย่างมาก”นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image