‘หมอธี’ ชี้ ทปอ.ปรับข้อสอบทีแคสเป็นเรื่องดี ‘ปธ.กพฐ.’ หนุน พร้อมแนะโละใช้โอเน็ตสอบเข้ามหา’ลัย

 ‘หมอธี’ ชี้ ทปอ.ปรับข้อสอบทีแคสเป็นเรื่องดี ‘ปธ.กพฐ.’ หนุน พร้อมแนะโละใช้โอเน็ตสอบเข้ามหา’ลัย

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงข้อสอบการคัดเลือกบุคคลกลางเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวิชาและการสอบ และลดค่าใช้จ่ายในการสอบ โดยข้อสอบที่ปรับปรุงนั้นจะเพิ่มการวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งคาดจะพัฒนาเพื่อใช้เป็นข้อสอบระดับชาติปีการศึกษา 2565 นั้น ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มีการปรับปรุง เพราะทราบว่าทาง ทปอ.ได้หารือเรื่องนี้เป็นเวลานานแล้วว่า ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถสะท้อนหรือวัดทักษะของนักเรียนได้จริงหรือไม่ อีกทั้งปัจจุบันการสอบมีความซ้ำซ้อนกันมาก ซึ่งในต่างประเทศไม่มีการสอบมากมายเช่นนี้ จึงต้องมีการปรับปรุงข้อสอบเพื่อให้มีความทันสมัย ลดความซ้ำซ้อน

“ส่วนที่ ทปอ.ตั้งเวลาการพัฒนาข้อสอบ ไปใช้ในปีการศึกษา 2565 เพราะการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม โดยหลักการควรจะประกาศเพื่อให้นักเรียนทราบ และมีเวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 3 ปีนั้น ต่อไปนี้วิธีการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้นเปลี่ยนไปแล้ว และเพื่อไม่ให้ถูกหาว่าเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไปเรื่อยๆ ส่วนแนวคิดที่จะวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ จะทำอย่างไร มีเครื่องมือที่สามารถวัดได้จริงหรือไม่นั้น ทปอ.ต้องคิดหาวิธีการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเรื่องนี้ผมสามารถแนะนำ ทปอ.ได้” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

ด้านนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ห่วงว่าเด็กจะสอบกี่วิชา แต่หากจะมีการปรับข้อสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ควรเป็นข้อสอบที่สามารถวัดคุณสมบัติคนที่จะเข้าเรียนต่อในคณะต่างๆ ได้ และควรให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในคัดเลือกเด็กเข้าเรียนโดยวิธีรับตรงมากขึ้น ส่วนปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการ โดยอาจกำหนดให้คณะเดียวกันเปิดสอบช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นการกระจายเด็กเก่งจะไม่ไปแย่งที่นั่งเด็กในต่างจังหวัด เพราะต้องรู้ตัวเองว่าสามารถเข้าเรียนต่อในคณะใด มหาวิทยาลัยใดได้บ้าง

“ขณะเดียวกัน ควรจะมีการสอบจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นข้อสอบจากส่วนกลาง และนำคะแนนดังกล่าวไปใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ ส่วนการใช้ข้อสอบโอเน็ตในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้น ผมมองว่า หากใช้คะแนนโอเน็ตในการเข้าเรียนต่อมากเกินไป จะทำให้เกิดการติว โดยอนาคตการสอบโอเน็ตควรเป็นลักษณะสุ่ม เช่นเดียวกับการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอบทุกคน เป็นการสอบเพื่อนำผลไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น” นายเอกชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image