ปลูกเมล็ดพันธุ์เยาวชน สร้างพลเมืองดี มีวินัย  

การสร้างพลเมืองดี มีวินัย ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเร่งปลูกฝัง เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต ….

ภาครัฐเห็นความสำคัญและผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 รวมถึงมีแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีและนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้เพราะเด็กและเยาวชนนับเป็นกำลังสำคัญของประเทศตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ปี 2560-2564 อาทิ พัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เต็มศักยภาพเพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์ การสร้างความเข้มแข็งของกลไกสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างพลเมืองดี มีวินัยว่า พลเมืองที่ดีที่เข้มแข็งต้องสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการศึกษา มีส่วนร่วมในการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ โดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ตามกรอบคุณลักษณะ 3 ด้านของผู้เรียน ได้แก่ ผู้เรียนรู้ (Learner) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Creator) และพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active citizen) เพราะส่วนหนึ่งของการจัดการการศึกษาจะสามารถเสริมสร้างวินัยให้แก่ผู้เรียนได้

Advertisement

การปลูกฝังวินัยให้กับเยาวชนไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่เป็นหน้าที่ของสถานศึกษา และ สังคมที่ต้องคอยสอดส่องดูแล วินัยที่จะต้องมี คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ฯลฯ การมีวินัยของคนในชาติ จะทำให้คนไม่ออกนอกกรอบของศีลธรรมอันดี  สุดท้ายเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข สังคมอยู่ร่วมกันได้ ต้องใช้ดุลยพินิจและความเมตตาด้วย

“ระเบียบวินัยหรือกฎของโรงเรียน ถือเป็นการปลูกฝังและฝึกวินัยให้กับเด็ก ซึ่งระเบียบวินัยหรือกฎต้องมีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรม เสมือนเป็นการจำลองสังคมที่เด็กต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กฎระเบียบของโรงเรียน เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะพบกับสังคมที่แท้จริง ซึ่งมีกฎหมายให้ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน การเป็นพลเมืองดี ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น และวินัยเป็นสิ่งที่ต้องมีเป็นพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นการมีวินัยของคนในชาติจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุข” ดร.สุภัทร กล่าว

รศ.นพ.สุริยเดว  ทริปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม สะท้อนปัญหาความมีวินัยของเยาวชนไทยว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความมีวินัยทางจิตวิทยาจะพูดถึงวินัยเชิงบวก ซึ่งไม่ใช่การบังคับ หัวใจสำคัญ คือ ทำให้เกิดจิตสำนึก อยู่ที่การปลูกฝังตั้งแต่ระดับครอบครัวที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำให้เกิดจิตสำนึกที่ดี

Advertisement

“หากคนที่มีจิตสำนึกจะเข้าใจทันทีว่าควรจะทำอะไร อย่างไร เหมือนกับทีมหมูป่าอะคาเดมีที่สามารถเอาตัวรอดจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ออกมาได้ จากการฝึกสมาธิ ฝึกจิตสำนึก เหมือนกับการฝึกวินัยอย่างหนึ่งโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ดังนั้น วินัยจึงไม่ใช่เพียงกฎเกณฑ์ กติกา แต่เป็นจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน บ้าน ชุมชน โรงเรียนต้องทำไปด้วยกัน เช่น การยืนตรงเคารพธงชาติผู้ใหญ่ก็ต้องทำไปด้วย  เป็นการมีส่วนร่วมอย่างมีจิตศรัทธา สัมพันธภาพที่ดี และมีเหตุผลในทางเหมาะสม รวมถึงมีจุดยืนที่ชัดเจน” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

ด้วยความหวังที่อยากเห็นเยาวชนไทยมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่น่าอยู่ มีระเบียบวินัย มีสันติสุข และเป็นสังคมคุณธรรม ร่วมคิดร่วมทำในสิ่งดีงามและถูกต้อง ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมความดีให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของสังคมนั้น จึงได้มีการจัดโครงการประชุมรับฟังความคิดเห็น “Youth Voice Forum พลเมืองรุ่นใหม่ มีวินัย รักถิ่นฐาน New Generation : We Change World Change” ขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ศูนย์คุณธรรม สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สภานักเรียนระดับประเทศ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทางนโยบายการศึกษา

นายเมธชนนท์  ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศ สะท้อนมุมมองเยาวชน ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ในฐานะเด็กจะเรียก วินัย ว่าการบังคับ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่การบังคับ  แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากการยอมรับเพื่อจะทำตามกฎ ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นข่าวเยาวชนออกมาเรียกร้องสิทธิ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ก่อนเรียกร้องควรรู้จักหน้าที่ก่อนที่จะเรียกร้อง  ซึ่งตนคิดว่าก่อนที่เด็กและเยาวชนจะออกมาเรียกร้อง นั่นหมายความว่าทุกคนรู้จักหน้าที่ดีอยู่แล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสร้างวินัยด้วยสภาพแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการเคารพกฎระเบียบ ซึ่งมาพร้อมกับความเสียสละ ต่างจากคนไทย ที่สภาพแวดล้อมอาจจะไม่เอื้ออำนวย แม้กระทั่งในโรงเรียนเองก็ยังไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย วันนี้เรามีเด็กหลายรูปแบบ หลายสังคม แต่อยากให้หาวินัยร่วมของทุกคน อีกทั้งสภาพแวดล้อมก็จะต้องมีวินัยด้วย ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเห็น  เพื่อให้เด็กทำตาม อย่าให้วินัยเป็นการบังคับ

นายตรัณ ตระกูลสว่าง รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย บอกว่า สภาเด็กฯ มองว่าตอนนี้เราน่าจะเป็นพลวัตร ซึ่งพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และก้าวสู่ความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามการที่สังคมขาดวินัยไม่อยากให้โทษเด็ก โดยทุกคนจะต้องเข้ามาช่วยการส่งเสริมและพัฒนาเน้นการมีส่วนร่วมของสังคมให้มากขึ้น

นายเบญจพล  อัศวอารีย์ หรือน้องฮิวโก้  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ตัวแทนจากกลุ่มที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “สร้างวินัยอย่างไรให้สนุก” การปลูกฝังความมีวินัย ควรเริ่มตั้งแต่ในห้องเรียน ทั้งเรื่องการเรียนการสอน ที่เป็นเรื่องหาความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือกิจกรรมนอกห้องเรียน ล้วนสามารถปลูกฝังความมีวินัยได้หลายรูปแบบ “ทางกลุ่มได้มีการพูดคุยถึงปัญหาที่ทำให้คนไทยขาดวินัยในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ภาพรวมน่าจะเกิดเพราะเราให้ความสำคัญกับส่วนรวมน้อยกว่าเรื่องส่วนตัว เน้นให้เด็กสอบและเรียนวิชาการมากเกินไป ดังนั้นทางแก้ คือ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากขึ้น อย่างผมเองมีโอกาสได้ทำกิจรรมทางสังคมร่วมกับเพื่อน ๆ ตั้งแต่อายุ 17 ปี ทำให้เห็นภาพบริบททางสังคมที่กว้างขึ้น รู้จักความเสียสละ ที่สำคัญรู้ว่าเราจะทำอะไรเพื่อส่วนรวมได้บ้าง ถือเป็นการปลูกฝังความมีวินัยไปในตัว” น้องฮิวโก้กล่าว

จากมุมมองของเยาวชนในการสะท้อนปัญหา แนวคิดในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นนั้น ปัจจัยหลักที่สำคัญคงหนีไม่พ้นสถาบันครอบครัว ในการเป็นแบบอย่างที่ดี สภาพแวดล้อมทางสังคม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ จากมุมมองของเยาวชน มาสู่มุมมองของนักวิชาการที่ใกล้ชิดกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ว่าการจะปลูกฝังวินัยให้กับเด็กในแต่ละวัยนั้นสามารถเริ่มต้นและเสริมสร้างให้เด็กๆ ผ่านวิธีใดหรือรูปแบบได้บ้าง

นางธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ขยายมุมมองการสร้างวินัยที่กว้างมากขึ้นว่า การสร้างวินัยต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วง 3 – 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สมองเติบโต เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำติดตัวได้จนกระทั่งโต ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังมากที่สุด คือ คนในครอบครัว พ่อแม่ ซึ่งสามารถค่อยๆ ปลูกฝังได้ตั้งแต่เป็นทารก เช่น การให้ลูกกินนม ฝึกความอดทน พยายามสื่อสารให้ลูกรู้จักการรอคอย เป็นต้นทุนให้เด็กได้ฝึกทักษะการตระหนักรู้ จากนั้นเมื่อโตขึ้นจึงค่อย ๆ สร้างกติกาในครอบครัว เช่น การกินข้าวให้ตรงเวลา การเก็บของเล่น ที่สำคัญจะต้องทำซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเกิดเป็นความเคยชิน

ทั้งหมดนี้ผู้ใหญ่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดี สำหรับอุปสรรคสำคัญของการสร้างวินัยในเด็กเล็ก ประการแรก เพราะพ่อแม่มองว่าลูกยังเล็ก จึงปล่อยปละละเลย ทำสิ่งต่างๆ ให้โดยบอกว่า พอโตขึ้นแล้วค่อยสอน อาจทำให้เด็กเกิดความสับสน และเริ่มมีการต่อรอง ประกอบกับครอบครัวปัจจุบัน พ่อแม่ทำงานไม่ค่อยมีเวลา เลี้ยงลูกแบบตามใจ จึงทำให้ลูกกลายเป็นเจ้านายในบ้าน ทางแก้ไข คือ ครอบครัวต้องเข้าใจก่อนว่า วินัยสร้างได้ตั้งแต่เด็กผ่านกิจกรรมในครอบครัวที่มีการสร้างกติกาต่างๆ ร่วมกัน

“การส่งเสริมให้เด็กเริ่มต้นเรียนรู้ความมีวินัยในครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญ หากเราสามารถปลูกฝังกระทั่งติดเป็นนิสัยไปจนโตได้ จะไม่เกิดปัญหาในช่วงการส่งต่อระดับที่สูงขึ้น เพราะเด็กจะเข้าใจว่าวินัยไม่ใช่การใช้อำนาจ แต่เป็นการเชิญชวนให้เขาทำ โดยผู้ใหญ่จะต้องพูดคุย อธิบายให้เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การกินข้าวตรงเวลาพร้อมกันกับครอบครัว ทำให้มีโอกาสพูดคุยหรือปรึกษาปัญหากัน เป็นต้น” นางธิดา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร  อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รับไม้ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผ่านงานวิจัยการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกแบบโมเดลการสร้างวินัยให้กับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า มี 3 รูปแบบสำคัญ ในการสร้างวินัย ดังนี้ รูปแบบที่ 1 การบูรณาการร่วมไปกับการเรียนการสอน ทั้งการเรียนตามหลักสูตรการเรียนรู้ปกติ และสอดแทรกไปในกิจกรรมการเรียนในทุกรูปแบบ สิ่งสำคัญจะต้องทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นภายในตัวเด็ก ไม่ใช่เป็นการบอกให้ทำ และมีเป้าหมายที่ท้าทาย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้ง ครู โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง รูปแบบที่ 2 การสร้างวินัยโดยใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อาทิ กิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี เป็นต้น หรือเป็นโครงการที่จัดขึ้นมาอิสระ เพื่อใช้ในการสร้างนักเรียนกลุ่มแกนนำ แต่รูปแบบโครงการนี้จะต้องมีการจัดกิจกรรมในโรงเรียนแบบต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง และรูปแบบที่ 3 การสร้างวินัยโดยใช้กฎ กติกา ออกระเบียบบังคับอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้จากการวิจัยใน 3 รูปแบบ ไม่สามารถบอกได้ว่ารูปแบบใดดีที่สุด ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง และขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากนำทั้ง 3 รูปแบบ มาบูรณาการ่วมกันจะทำให้การพัฒนาวินัยในนักเรียนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือ ครู ที่จะต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู มุ่งมั่น เข้าใจธรรมชาติของเด็ก โดยการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว รองลงมา คือ ผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบาย สนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในด้านต่าง ๆ และสุดท้าย คือ ผู้ปกครอง ชุมชน ที่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน

“อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสร้างวินัยให้กับเด็ก คือ ผู้บริหารโรงเรียนที่ยังติดกับดักตัวเลขต่าง ๆ เช่น จำนวนนักเรียนที่สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ แต่ไม่สนใจเรื่องการปรับปรุง ปลูกฝังพฤติกรรม มีวินัย ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ทั้งที่เรื่องเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนิสัยที่ติดตัวเด็กไปจนกระทั่งโต มีความสำคัญกว่าเนื้อหาการเรียนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันเด็กสามารถเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองผ่านทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่ผู้ปกครองและชุมชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมใกล้ชิดกับโรงเรียนมากขึ้น เพราะการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ ให้กับเด็กนั้น ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียน ” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

การสร้างวินัยให้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว และทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญ ร่วมกันปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ที่ดี เชื่อว่าเยาวชนของเราจะต้องเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี กลายเป็นกำลังหลักของชาติที่มีคุณภาพ เพราะมีวินัยอันเป็นส่วนสำคัญหล่อหลอมให้คนเคารพกฎ ระเบียบและข้อตกลงร่วมกัน เช่นนั้นเองจึงจะกลายเป็นกำลังหลักของชาติที่มีคุณภาพ ร่วมพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image