‘ศธ.’ ทุ่มงบ 10 ล. ให้ ‘TDRI’ วิเคราะห์ตลาดแรงงาน พร้อมเผยแพร่ให้ นร.วางแผนอาชีพในอนาคต

‘ศธ.’ ทุ่มงบ 10 ล. ให้ ‘TDRI’ วิเคราะห์ตลาดแรงงาน พร้อมเผยแพร่ให้ นร.วางแผนอาชีพในอนาคต

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีความต้องการที่จะรู้ว่าตลาดแรงงานต้องการผู้ที่จบอาชีพอะไรบ้าง ตัวเลขความต้องการตลาดแรงงานจริงๆมีเท่าใด ซึ่งตนได้หารือกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อเร็วๆนี้ ว่าจะมีความร่วมมือกันเพื่อสำรวจ รวบรวมข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงาน โดย ศธ.จะให้ทุน ผ่านกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยให้งบสนับสนุนประมาณ 10 ล้านบาท ไปสำรวจว่าการจ้างงานเป็นอย่างไร และตลาดแรงงานต้องการอาชีพใดบ้าง พร้อมวิเคราะห์รายละเอียดอาชีพ แต่ละอาชีพนั้นต้องการทักษะอะไรและนักเรียนต้องเรียนรู้ทักษะด้านใดเพิ่มบ้าง เพื่อให้สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษาว่าได้จัดสอนทักษะให้นักเรียนได้หรือไม่

“ทั้งนี้ทาง TDRI สรุปผลสำรวจได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ซึ่งผมไม่อยากให้รอจนได้ข้อมูลที่เรียบร้อย แต่จะรีบประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และใครก็ตามที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ พัฒนา และเผยแพร่ให้นักเรียนทราบต่อไป เพื่อให้นักเรียนเตรียมตัววางแผนอาชีพของตนในอนาคตต่อไป และอาจารย์ผู้สอนสามารถรู้ว่าต้องเตรียมพร้อม เตรียมสอนอะไรนักเรียนบ้าง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ข้อมูลความต้องการอาชีพในตลาดแรงงาน ที่ TDRI ตรวจสอบข้อมูลให้นั้น สพฐ.จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะ นักเรียนในระดับชั้น ม.ต้น และม.ปลาย หากรู้ว่าอาชีพในบ้างในปัจจุบันที่นิยม ถ้านักเรียนสนใจอาชีพไหน ทักษะพื้นที่ฐานที่ต้องมีอะไรบ้าง โดยองค์ความรู้เหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปยัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูแนะแนว ครูประจำชั้นจะรู้ว่าประเทศไทย กำลังต้องการอาชีพไหนบ้างเพื่อพัฒนาประเทศ

“จากที่ผมดูรายละเอียดของ TDRI พบว่า ขณะนี้ 1 ใน 4 ของการเปิดรับสมัครงาน ไม่ถามวุฒิการศึกษา แต่กลับระบุว่าต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ มีทักษะในเรื่องใดบ้าง เรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ให้นโยบายกับ สพฐ.ว่าต้องไปศึกษาดูว่าในการเรียนระดับ ม.ต้น และม.ปลาย จะมีหลักสูตรระยะสั้นที่จะฝึกทักษะให้นักเรียนได้หรือไม่ และสามารถเป็นสอนทักษะให้นักเรียนได้หรือไม่ เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานได้ในระหว่างเรียน เพื่อช่วยเหลือนตนเองและครอบครัว หรือจบมาทำงานได้ทันที เป็นต้น ถือว่า สพฐ.จะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยประเทศชาติในการพัฒนาคน สู่อาชีพที่ภาคเอกชน และประเทศต้องการ” นายบุญรักษ์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image