ยัน ‘พ.ร.ก.การศึกษาฯ’ เปิดฟังความเห็นรอบคอบ หลัง ‘เครือข่ายครูโคราช’ ขอชะลอออก หวั่นอนาคตเกิดปัญหา

ยัน ‘พ.ร.ก.การศึกษาฯ’ เปิดฟังความเห็นรอบคอบ หลัง ‘เครือข่ายครูโคราช’ ขอให้ชะลอออก หวั่นอนาคตเกิดปัญหา ชี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง หลังโดนจวกออกค้านเพื่อประโยชน์

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยกรณีที่มีกลุ่มครู และนักวิชาการออกมาคัดค้านการออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การศึกษาแห่งชาติ เพราะยังมีข้อบกพร่องและมีผลกระทบโดยตรงต่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งยังมีบางมาตราที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เช่นการกำหนดตำแหน่งต่างๆ และการเปลี่ยนการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น โดยอยากให้ออกกฎหมายให้รอบด้าน มีความรอบคอบ มีฉันทามติร่วมกันทุกฝ่ายนั้น ว่า การจัดกฎหมายต่างๆ นั้น ต่างมีขั้นตอนและกระบวนการจัดทำอยู่ ซึ่งจากการเปลี่ยนจากการออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เป็น พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาตินั้น ผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายจะร่วมกันหารือตัดสินใจว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้จัดทำนั้น ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากการลงพื้นที่และเปิดรับความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กอปศ.ได้หมดหน้าที่แล้ว และส่งร่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาไปแนวทางไหน

“ในส่วนของคุรุสภา มีส่วนเกี่ยวข้องในกฎหมายฉบับนี้ในบางมาตรา เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เปลี่ยนเป็นใบรับรองความเป็นครู ซึ่งคุรุสภาก็จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม คุรุสภาจะดำเนินการทุกอย่างโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก จะไปค้านหรือทำอะไรไม่ได้ ถ้ากฎหมายกำหนดเช่นไรต้องทำตามนั้น และทุกเรื่องไม่ว่าจะดำเนินการอะไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ทุกอย่างต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นและต้องเป็นฉันทามติทั้งหมด” นางวัฒนาพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า การออก พ.ร.ก. นั้นจะต้องเป็นกฎหมายที่เร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของรัฐ แล้วกฎหมายการศึกษานั้นถือเป็นความจำเป็น เร่งด่วนที่ต้องออกทันทีหรือไม่ นางวัฒนาพร กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดเห็นของแต่ละบุคคล เพราะมีบางเรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหาการศึกษาที่จำเป็นแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เป็นต้น

ด้านนายไพทูรย์ อักษรครบุร ประธานเครือข่ายครูโคราช กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางเครือข่ายครูโคราช ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือเรื่อง ขอเรียนสอบถามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับมาจากทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำว่าเครือข่ายครูโคราช ไม่ได้คัดค้านการออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่มีข้อเสนอที่อยากให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เนื่องจากทราบว่าทาง กอปศ.มีข้อเสนอให้ประกาศให้ออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้ทันในรัฐบาลนี้ แต่ยังมีบางมาตราที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต เช่น ยกเลิก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” และใช้ “ใบรับรองความเป็นครู” หรือการเปลี่ยน “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็นครูใหญ่ เป็นต้น

Advertisement

“เครืองข่ายครูโคราช มีข้อเสนอคือ ให้ชะลอการออกกฎหมาย ขอนำกฎหมายฉบับนี้ไปให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา โดยต้องเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่ออกมาเป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ใช่ออกมาเป็น พ.ร.ก. เพราะที่ผ่านมาแม้ กอปศ.จะบอกว่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่คิดว่ายังไม่รอบคอบมากพอ ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ออกมาคัดค้าน เป็นการคัดค้านเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล แต่อยากให้มองให้รอบคอบ และมองถึงปัญหาที่จะกระทบในอนาคตด้วย” นายไพทูรย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image