กอปศ.พัฒนา1.5หมื่นโรงเรียนเล็ก ชงนำร่องร.ร. ‘ปกติ10%-บนเกาะ25’

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกอปศ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ สรุปบทบาทภาคเอกชนในการจัดการศึกษา ประกอบรายงานกอปศ. โดยที่ประชุมอยากเห็นภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น เนื่องจากมีความคล่องตัว มีคุณภาพ สามารถพัฒนาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันมากกว่าภาครัฐ ซึ่งต่อไปจะมีการจัดการศึกษาที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียนทั้งหมด ดังนั้นจะต้องปรับโครงสร้าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้ทำงานครอบคลุมมากขึ้น ที่ประชุมยังหารือถึงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่กว่า 1.5 หมื่นโรงเรียน ถือเป็นครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 3.3 หมื่นโรงเรียน ทั้งนี้ ได้ให้นิยามโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 โดยอนาคตแนวโน้มโรงเรียนขนาดเล็กจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง การคมนาคมที่ดีขึ้น ทำให้เด็กสามารถไปโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นโรงเรียนที่เคยมีนักเรียนมากกว่า 120 ก็มีโอกาสกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำ

นพ.จรัส กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามรายงานของธนาคารโลก ก็ระบุว่า ประเทศไทยลงทุนกับโรงเรียนขนาดเล็กไปมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ต่ำ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ที่ประชุมเห็นว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีจุดดีที่มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะครูรู้จักเด็กเป็นรายคน สามารถจัดการศึกษาให้เด็กได้อย่างหลากหลายตามความถนัดของนักเรียน โดยใช้สื่อดิจิทัลในการพัฒนาเด็ก รวมถึงการเปลี่ยนหลักสูตรจากเนื้อหาสาระ ไปเป็นหลักสูตรสมรรถนะก็จะสามารถพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ดังนั้นเป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็ก มีคุณภาพได้ ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า โรงเรียนขนาดเล็กยังไม่มีระบบการจัดการ เพราะกฎเกณฑ์หลายเรื่อง โดยเฉพาะการจ่ายเงินรายหัวนักเรียน ซึ่งให้เท่ากัน เมื่อโรงเรียนมีนักเรียนน้อย ก็จะได้เงินน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ ขณะที่สัดส่วนครูต่อนักเรียนก็ไม่เหมาะสม โดยทั้งสองส่วนนี้จะต้องไปปรับแก้ให้เหมาะสมและต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ และชุมชน ภาคธุรกิจ ประชาสังคมต่าง ๆ ที่ผ่านมามีโรงเรียนที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้มากมาย

“กอปศ.จะเสนอรูปแบบการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม ตามพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา พ.ศ.2562 โดยจะเสนอให้เลือก 1 ใน 4 ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือบนเกาะ และ 1 ใน 10 ของโรงเรียนพื้นที่ปกติให้มาเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม พิจารณาว่าจะให้พัฒนาโรงเรียนใดเป็นพิเศษ เพื่อเป็นตัวอย่างของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่เน้นเรื่องคุณธรรม ความดี”นพ.จรัสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image