นับหนึ่ง..กระทรวงอุดมศึกษาฯ ปักธง..ปั้น ‘บัณฑิต-นวัตกรรม-วิจัย’ แบกความ ‘คาดหวัง’ คนไทย

เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สำหรับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ อย่างเป็นทางการ

ส่งผลให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องยุติบทบาทโดยอัตโนมัติ โดยปรับเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูของสำนักงานปลัด อว.

ถือเป็นรอบที่ 3 ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษาในระดับ “อุดมศึกษา” ครั้งใหญ่ !!

ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศเมื่อปี 2546 “ทบวงมหาวิทยาลัย” ถูกยุบไปรวมอยู่ภายใต้โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ ภายใต้ชื่อ “สกอ.”

Advertisement

ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผู้บริหาร นักวิชาการ และประชาคมมหาวิทยาลัย ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยมองว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีปรัชญา และแนวคิดแตกต่างกัน หากนำไปรวมกัน จะกลายเป็นถอยหลังเข้าคลอง

แต่เสียงคัดค้านในช่วงเวลานั้น กลับไม่ได้รับการตอบรับ

อย่างไรก็ตาม หลังทบวงฯ เข้ามารวมอยู่ภายใต้ร่ม ศธ.ได้ไม่ถึง 10 ปี ประชาคมมหาวิทยาลัยซึ่งนำโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็เริ่มเคลื่อนไหวขอแยก สกอ.ออกจาก ศธ.อีกครั้ง !!

เหตุผลสำคัญก็เพื่อให้อุดมศึกษามีความ “คล่องตัว” ทั้งในแง่การบริหารงาน และการบริหารงบประมาณ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังเข้ามารวมอยู่ภายใต้ ศธ.ทำให้การจัดการอุดมศึกษา มีสภาพไม่ต่างจาก “ลูกเมียน้อย” ที่มักจะถูกลืมในบ้านหลังใหญ่ที่เทอะทะ ไม่สามารถดูแลจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม

ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเรียนการสอน งานวิจัย และนวัตกรรม ให้เทียบเท่าประเทศอื่นๆ เห็นได้ชัดจากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งเคยวิ่งตามหลังไทย แต่เวลานี้หลายประเทศกลับวิ่งแซงหน้าไทยไปไกลจนแทบไม่เห็นฝุ่น…

กระทั่งเริ่มผลักดันให้แยก สกอ.ออกมาจาก ศธ.อย่างจริงจัง โดย ทปอ.เร่งยกร่างกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ รอไว้หลายฉบับ จัดทำข้อเสนอหลายข้อ ทั้งการแยกเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา” หรือเปลี่ยนสถานะเป็น “นิติบุคคล” หรือกระทั่งขอกลับไปเป็น “ทบวงฯ” เช่นเดิม

แต่ทุกข้อเสนอ “ไม่ได้” รับการตอบรับจากทุกรัฐบาลในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ และ “รับลูก” ประชาคมมหาวิทยาลัย โดยมอบหมายให้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. …

ขณะเดียวกันมอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร ช่วงที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และประธาน ทปอ.เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ควบคู่กันไป

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ดึง นพ.อุดมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เพื่อเดินเรื่องตั้งกระทรวงใหม่ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้

แต่ระหว่างนั้น มีการปรับแผน จากเดิมแค่แยก สกอ.ออกจาก ศธ.และจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา มาเป็นควบรวม สกอ.กับ วท.และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ไว้ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยให้เหตุผลว่างานวิจัยกับการอุดมศึกษา ไม่ควรแยกออกจากกัน แต่ควรทำงานส่งเสริม และสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม ช่วยพัฒนาประเทศในยุค 4.0

ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 2 ปี กว่าที่การผลักดันครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย !!

ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ครบทั้ง 10 ฉบับ ดังนี้

พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562,

พ.ร.บ.การบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562

ถือว่ากระทรวงอุดมศึกษาฯ เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และคาดการณ์กันว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะแต่งตั้งรักษาการรัฐมนตรีว่าการ อว.และรักษาราชการแทนปลัด อว.ในการประชุม ครม.วันที่ 7 พฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมถือว่าคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับหน้าที่ขับเคลื่อนงานในระยะแรก ซึ่งที่ผ่านมามีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วถึง 90%

สำหรับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถูกออกแบบให้เป็นกระทรวงขนาดเล็ก ที่มีความคล่องตัวในการสนับสนุนส่งเสริมให้มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ดำเนินงานได้ประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เชื่อมโยงกระทรวงต่างๆ ภาคเอกชน และอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมสนับสนุนส่งเสริม งานวิจัย และการสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สนับสนุน ส่งเสริม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั่วภูมิภาค รวมถึง วางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ

ทั้งนี้ กำหนดมีบุคลากรประมาณ 1 แสนคน งบประมาณแต่ละปีกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะงบวิจัย ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ตั้งเป้าเพิ่ม 1.5% ในปี 2563-2564 และหลังจากปี 2564 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2%

สำหรับโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน มีเป้าหมายให้สำนักงานปลัด อว.เป็นหน่วยงานราชการเพียงหน่วยงานเดียวภายในกระทรวงใหม่ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ มีแผนปรับสถานะ เช่น มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ จะพยายามผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบ

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเดิม 9 แห่ง วางแผนเตรียมการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือออกนอกระบบราชการ ตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มี 3-4 แห่ง ที่พร้อม อย่างไรก็ตาม แม้มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบราชการแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนงบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยคล่องตัวในการบริหารจัดการ

ส่วนกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กำหนดให้เปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนภายใน 3 ปี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) อยู่ระหว่างเจรจาว่าหากโอนไปอยู่กับกระทรวงพลังงาน

อีกทั้ง กระทรวงใหม่จะมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ดูแลภาพรวมของการจัดสรรงบด้านการวิจัยทั้งหมดของประเทศ รวมทั้ง ยังสนับสนุนงบวิจัยเอกชนได้ด้วย

โดยใน 3 ปีแรก งบวิจัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นงบด้านวัสดุ และครุภัณฑ์ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้มหาวิทยาลัยเสนอขอรับการจัดสรรงบได้โดยตรงที่สำนักงบประมาณ จากนั้นงบทุกอย่างจะอยู่ที่กองทุนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้จะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย เพราะรัฐบาลจะสนับสนุนงบเป็นก้อน ถือเป็นช่องทางพิเศษให้มหาวิทยาลัยได้เงินเพื่อสร้างงานวิจัย

ทั้งนี้ ถือว่าความสำเร็จในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถือเป็นก้าวสำคัญของอุดมศึกษา ซึ่งถูก “คาดหวัง” ให้เป็นแกนหลักในการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และงานวิจัย ผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะตามความต้องการในศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ…

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันครั้งนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย คงต้องทำงานหนัก เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยเร็ว

เพราะหากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ เกิดขึ้นนับจากนี้ ถึงเวลานั้น “ประชาคมมหาวิทยาลัย” คงต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า แล้วที่ยุบ สกอ.และ วท.เพื่อจัดตั้งกระทรวงใหม่ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์??

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image