‘นักวิชาการ’ จี้ สพฐ.เฉลี่ย งบอุดหนุนให้ นร.ใหม่หลังพบ เด็กยากจนเพิ่มมากขึ้น

‘นักวิชาการ’ จี้ สพฐ.เฉลี่ย งบอุดหนุนให้ นร.ใหม่หลังพบ เด็กยากจนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2562 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ว่า จากการที่ตนลงพื้นที่สำรวจและวิจัย พบว่า ปีนี้ประชาชนจะเดือนร้อนหนัก โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายการเปิดเทอม ซึ่งเท่าที่ทราบรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ประมาณ 500 บาท แต่พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1 คน ตกประมาณ 3,000 บาท สิ่งที่ตามมาคือผู้ปกครองแบกรับค่าใช้จ่ายหนัก ขอเบิกได้น้อย ทำให้ผู้ปกครองอาจจะกู้เงินนอกระบบเข้ามาหมุนมากขึ้น ดังนั้น สพฐ.ควรกลับมาทบทวนเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวทั้งหมด และหาทางช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองยากจน สามารถเฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับนักเรียนที่ยากจนให้ได้เงินมากกว่า นักเรียนที่มีฐานะดีได้หรือไม่

“การเตรียมตัวรับเปิดเทอมปีนี้ สพฐ. ต้องเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ปีนี้นักเรียนเข้ามาด้วยความพร้อมเรื่องการเงินอาจจะมีน้อย จำนวนนักเรียนที่ยากจน หรือไม่มีความพร้อมเรื่องการเงินอาจจะมีมากขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมการเรื่องเยี่ยมบ้านนักเรียนให้พร้อม 2-3 อาทิตย์แรกของการเปิดเรียน ครูจะรู้ปัญหานักเรียนทันทีว่านักเรียนเดือดร้อนเรื่องการเงินหรือไม่ เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนได้ทัน เช่นการหาทุนให้นักเรียนที่ยากจน หรืออาจจะติดต่อขอทุนกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้นักเรียนได้มีทุนเรียนต่อ มีคุณภาพชีวีติที่ดีขึ้น ไม่ลาออกกลางคัน”นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปีนี้จำนวนนักเรียนจะลงลด เนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่ให้สพฐ. จัดการ ว่าควรจะปรับปรุงการเรียนการสอน กับนักเรียนที่มีจำนวนน้อยลงอย่างไร จะให้สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนแบบไหนที่จะพัฒนานักเรียนได้ดียิ่งขึ้น และต่อจากนี้อีก 3-4 ปี วิกฤตการศึกษาของประเทศจะหนักขึ้นสพฐ. ต้องทำความเข้าใจ และศึกษาเรื่องบริบทเศรษฐ สังคม ครอบครัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาในอนาคต นอกจากนี้ จำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน เช่น นักเรียนที่เรียนช้า นักเรียน LD เข้ามาเรียนรวมกับนักเรียนปกติมากขึ้น 10-12% สพฐ.จะมีเครื่องมือในการช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image