ซัดไอ้โม่งบิดเบือนร่างพ.ร.บ.ศึกษาชาติ ปล่อยข่าวตัดเงินวิทยฐานะ ‘กพฐ.’ โต้สิทธิครูอยู่ครบ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กพฐ. วันที่ 17 พฤษภาคมนี้  จะพิจารณาคู่มือการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ปรับใหม่เสร็จแล้ว 3 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรจากต่างประเทศ สอนโดยครูเจ้าของภาษาหรือครูที่มีคุณสมบัติตามกำหนด 2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น Intensive English Program (IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ B2 คือสามารถสื่อสารเรียนรู้ และทำงานในสภาพแวดล้อม หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ ทั้งนี้โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ3.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อทุกคน General English Program (GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะตั้งแต่ยังเล็กๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม ส่วนโรงเรียนจะเริ่มสอนเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละแห่ง

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ตนจะนำข้อมูลปัญหาการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.4 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาหารือ เพราะที่ผ่านมามีเสียงบ่นจากผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องว่า เกณฑ์รับนักเรียนเปลี่ยนบ่อยทุกปี โดยจะเสนอว่า แม้รายละเอียดจะเปลี่ยนแปลงแต่แกนหลักในการับเด็ก ควรคงไว้เดิม อาทิ ให้รับเด็กในพื้นที่บริการไม่ต่ำกว่า 80% หรือหากเป็นไปได้ ให้รับเด็กในพื้นที่บริการ 100% เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพทางการศึกษา รวมถึงให้โรงเรียนรับเด็กชั้นม.3 เข้าเรียนม.4 โรงเรียนเดิมอัตโนมัติเช่นเดิม เพื่อลดการแข่งขัน เพราะหากปล่อยให้โรงเรียนสอบแข่งขันมากเกินไป โรงเรียนก็จะคัดเฉพาะเด็กเก่งตัดโอกาสเด็กที่เรียนระดับปานกลาง ทั้งที่ โรงเรียนสามารถสอนเด็กแบบคละกันทั้งเด็กเก่งและเด็กเรียนปกติได้ ส่วนจะออกเป็นกฎหมายหรือกฎกระทรวงเพื่อให้มีผลบังคับใช้นั้น ต้องหารือสพฐ. และคณะกรรมการ กพฐ. เพราะบางอย่างต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายเอกชัย กล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติจะไม่ออกร่างพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. และให้รอรัฐบาลหน้าพิจารณาตามขั้นตอนนั้น เข้าใจว่ารัฐบาลเกรงจะถูกครหาว่าออกกฎหมายเร่งรีบ แต่ความเห็นส่วนตัว หากไม่ออกเป็นพ.ร.ก.หรือเร่งออกภายในรัฐบาลนี้ การพิจารณาจะช้าไปอีกกว่า 1 ปี และกังวลว่า หากเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะมีการปรับแก้จนกฎหมายบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม อีกทั้งยังมีความพยายามสร้างความเข้าใจผิด ล่าสุดกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน ออกมาคัดค้านการออกร่างพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. และร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. โดยเฉพาะประเด็นเปลี่ยนชื่อ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นใบรับรองความเป็นครู มีการบิดเบือนข้อมูลว่าหากเปลี่ยนชื่อแล้วจะถูกตัดเงินวิทยฐานะ ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยพิจารณาเรื่องการดึงเงินวิทยฐานะออก สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ยังคงอยู่ครบถ้วนเช่นเดิม

“ผมเห็นเช่นเดียวกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)ว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ เพราะจะเป็นใบเบิกทางของการออกกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ…. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ…. เป็นต้น ซึ่งกำหนดให้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายใน 2 ปี ดังนั้นหากพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ช้าไป 1 ปี เท่ากับว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จะช้าไปถึง 3 ปี ผมหวังว่ารัฐบาลหน้าจะเห็นความสำคัญ และเร่งออกกฎหมายฉบับนี้” นายเอกชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image