จวก ‘สมคิด’ พา ปท.ตกเหว ใช้มหา’ลัยตอบแทนนายทุน เน้นรองรับ ‘อุตสาหกรรม-อีอีซี’

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ อว.มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยปรับตัว เปิดสอนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งสำนักงบประมาณกำหนดแล้วว่าจะเน้นด้านใดบ้าง ถ้าใครออกนอกกรอบจากนี้อาจไม่ได้งบ ขณะที่งานวิจัยก็ต้องทำเพื่อพัฒนาประเทศไม่ใช่พัฒนาตัวเอง รวมถึงให้อธิการบดีหาพาร์ตเนอร์มาร่วมลงทุน และเปิดโอกาสให้เอกชนตั้งสถาบันการศึกษานั้น ส่วนตัวคิดว่าข้อความที่นายสมคิดส่งไป มหาวิทยาลัยจะเข้าใจ ตนหากมีโอกาสได้พบและพูดคุยกับมหาวิทยาลัยจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง
“ทั้งนี้ การกำหนดงบอุดหนุนตามยุทธศาสตร์ของประเทศนั้น มหาวิทยาลัยยังคงต้องทำงานวิชาการทุกด้านเช่นเดิม ไม่ใช่จะให้ทิ้งภาคสังคม เพียงแต่เน้นในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศเป็นหลัก ซึ่งการทำงานของ อว.ในช่วงปีงบ 2562 จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะได้จัดสรรงบไปแล้ว ส่วนปีงบ 2563 จะต้องจัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาได้ภายในเดือกรกฎาคม และสิงหาคม” นพ.สรนิตกล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ฟังนโยบาย มองว่านายสมคิดเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้ปัญหาการศึกษาไทยค่อนข้างดี แต่สงสัยว่าทำไมอยู่ในรัฐบาล 5 ปี ถึงไม่สะท้อนสิ่งเหล่านี้ให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้ง 3 คนแก้ไข เท่ากับว่าการทำงานที่ผ่านมาของรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ถือว่าสอบตก โดยเฉพาะกรณีที่ ศธ.จัดทำนโยบายต่างๆ โดยไม่มีฐานข้อมูล ขณะที่ในส่วนของอุดมศึกษานั้น วิธีคิดนโยบายของนายสมคิดมีความเป็นทุนนิยมการศึกษาค่อนข้างมาก โดยมหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายที่มาถูกทาง และเข้าใจปรัชญาความเป็นอุดมศึกษามากน้อยแค่ไหน เนื่องจากอุดมศึกษาต้องมีความอิสระทางวิชาการ ตอบโจทย์สังคม และประเทศ

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ โมเดลของนายสมคิดกลับให้อุดมศึกษาทำงานตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาแบบนี้เป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยหวังว่าเมื่อคนรวยแล้วจะมาช่วยพัฒนาสังคม แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เกรงว่านโยบายนี้จะเป็นความผิดพลาด คนรวยจะยิ่งรวย นายทุนได้ประโยชน์ อาจไม่ใช่การกระจายรายได้และโอกาสที่แท้จริง เป็นความคิดที่ผิด ชาวอุดมศึกษาจะต้องกลับมาคิดทบทวนครั้งใหญ่

“ส่วนที่ขู่ว่าจะให้การสนับสนุนงบเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศนั้น ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือออกนอกระบบ โดยสัญญาว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องงบ แต่วันนี้กลับบอกว่า หากไม่ทำตามนโยบายจะไม่ได้งบ เป็นคำขู่ที่ไม่เหมาะสมกับปรัชญาของอุดมศึกษา ทั้งที่นายสมคิดบอกว่าเป็นอาจารย์มา 17 ปี แต่กลับไม่เข้าใจ หากเป็นเช่นนี้การเดินหน้า อว.กำลังเอียงกระเท่เร่ ไม่ตอบโจทย์ เอามหาวิทยาลัยไปตอบแทนนายทุน โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งไม่ใช่ เป็นการคิดอย่างไม่รอบคอบ หากเดินตามนโยบายนี้ เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยทำผิดหน้าที่พาประเทศตกเหว จะเกิดปัญหารวยกระจุก จนกระจายมากขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image