สช.พร้อมรับอาชีวะเอกชนกลับรัง เผยร.ร.แห่ปิดเกือบ 20 แห่ง/ปี

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) และสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาระบุว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนหลายแห่งจำนวนนักเรียน และนักศึกษาลดลง ส่งผลให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนบางแห่งไม่รับนักเรียน และนักศึกษาในปีนี้ อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการ โดยเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนไปอยู่ภายใต้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งไม่เหลียวแล และจากการสำรวจพบว่ากว่า 80% อยากกลับไปอยู่ภายใต้สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตามเดิมนั้น ทางสช.ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ สอศ. เรื่องนี้ อยู่ที่ตัววิทยาลัยซึ่งย้ายสังกัดไปอยู่ภายใต้สังกัดสอศ. แล้วอยากกลับมาอยู่กับสช. ซึ่งส่วนตัวพร้อมที่จะดูแลอาชีวะเอกชน เพราะเป็นงานที่เคยทำ อีกทั้งขณะนี้ก็ยังมีระเบียบบางเรื่องที่พิจารณาร่วมกันอยู่ อาทิ ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการบริหารกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบพ.ศ.2556 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยืมเงินเพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เป็นต้น

“หากอาชีวะเอกชนอยากกลับมาจริง ผมก็พร้อมรับเสมอเพราะเป็นงานที่เคยทำมาก่อน  ซึ่งตอนนี้ย้ายไปอยู่สอศ. เพราะมองว่า เป็นหลักสูตรอาชีวะเหมือนกัน  หากไปอยู่สังกัดเดียวกัน น่าจะสามารถพัฒนาไปได้ดีกว่า การจะย้ายกลับมา ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ที่ต้องพิจารณาว่า หากย้ายกลับมาอยู่สช. จะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร โดยอาจจะต้องมองทั้งด้านการบริหารวิชาการ ที่ทางสอศ.จะสามารถพัฒนาได้มากกว่า  แต่ในส่วนของการส่งเสริมสนับสนุนวิทยาลัยอาชีวะ ก็อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ส่งผลถึงการพัฒนาวิชาการ ที่แม้จะสนับสนุนอย่างไรก็ต้องตามด้วยงบประมาณด้วย ”นายชลำกล่าว

เลขาธิการกช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนาโรงเรียนเอกชนนั้น แม้จำนวนเด็กจะลดลง แต่ตนพยายามทำความเข้าใจกับโรงเรียนให้อยู่อย่างมีคุณภาพ และทำหน้าที่แบ่งเบาการจัดการศึกษาของภาครัฐ โดยปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมามีโรงเรียนเอกชน ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ประมาณ 20 โรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขปกติ เพราะที่ผ่านมาแต่ละปีมีโรงเรียนปิดกิจการเฉลี่ยปีละประมาณ 18-19 โรงเรียน  ซึ่งปัญหาเด็กเข้าเรียนลดลงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นหลักเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็มีสิทธิเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพ ดังนั้นสิ่งที่ตนพยายามสื่อสาร มาตลอดคือ ให้โรงเรียนพัฒนาตัวเอง เพิ่มคุณภาพ เพื่อแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของภาครัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image