‘สุเทพ’ยังไม่สรุปเกณฑ์รับน.ร. เล็งหารือผอ.ร.ร.-เขตพื้นที่ฯ

ตามที่ที่ประชุมเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2563 โดยให้กำหนดเป็นแผนแม่บท เพื่อเกณฑ์การรับนักเรียนจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทุกปี เช่นการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการกำหนดไว้ที่ 60% เกณฑ์จำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้รับนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาเรียนด้วยการสอบ 100% ส่วนโรงเรียนอื่นที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนแข่งขันสูง สามารถรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการได้ ทำให้มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมากนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายสุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า นโยบายการรับนักเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายฝ่าย ทั้งผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ซึ่งต้องพิจารณาไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนกลางหรือสพฐ. เข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการมากเกินไป ดังนั้นจะพยายามให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด( กศจ.) เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ตามกฎหมายที่ได้ให้อำนาจกศจ.ในการดูแลการจัดการศึกษาของจังหวัด  รวมถึงต้องรอดูนโยบายจากรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ด้วย ส่วนข้อเสนอที่ให้สอบรับนักเรียนชั้นม.1 และม.4 โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงเข้าเรียน 100% นั้น ส่วนตัวคงยังไม่แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ เพราะอยากรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง  โดยเร็ว ๆ นี้ตนจะหารือกับนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกพฐ. เพื่อรับทราบนโยบายจากกพฐ. อีกครั้ง

นพ.จรัส สุวรรณเวลา  ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา( กอปศ.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การกำหนดดังกล่าว เป็นการไปเน้นที่โรงเรียนมากเกินไป ทั้งที่ การบริหารจัดการโรงเรียนแต่ละแห่ง จะต้องไม่เหมือนกัน  โดยโรงเรียนบางประเภท ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก จะให้มาใช้ระบบเดียวกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ก็คงเป็นไปไม่ได้

“เรามักจะมีการแบ่งแล้วยกระดับ  ตรงนี้เป็นข้อเสียของสังคมไทยที่ บางคนดี กว่าอีกคนหนึ่ง แต่คนอาจดีได้หลายอย่าง คนที่อยู่โรงเรียนขนาดเล็กแล้วทำได้ดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ วิธีแบ่งโดยเอาคุณค่าใส่เข้าไปด้วย มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ทั้งที่จริงแล้ว ควรปล่อยให้โรงเรียนเหล่านี้มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะโรงเรียนประจำจังหวัดทั้งหลายควรปล่อยให้เป็นอิสระได้แล้ว  เพื่อให้สามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ “นพ.จรัสกล่าว

Advertisement

ด้านว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัด เพราะต้องรอฟังนโยบายการรับนักเรียนของปีการศึกษา 2563 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ ว่าจะให้แนวทางเช่นไร แต่สิ่งที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังดำเนินการขณะนี้คือ มอบให้ สำนักนโยบายและแผน รวบรวมรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา ว่าเป็นเช่นไร โดยในวันที่ 10 มิถุนายน จะเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนทั่วไป และโรงเรียนขนาดเล็ก มาสะท้อนถึงการรับนักเรียนปีที่ผ่านมา มีปัญหาอย่างไร รวมถึงจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ปกครอง นักเรียน และภาคสังคมที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวด้วย คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน จะสามารถสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการรายงาน รัฐมนตรีว่าการศธ. คนใหม่ต่อไป

“เรื่องนี้ยังต้องฟังนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนใหม่ก่อนถึงนโยบายของการรับนักเรียนปีถัดไป ข้อเสนอของ กพฐ.เป็นอีกหนึ่งแนวคิดยังไม่ใช่นโยบาย ซึ่งการสอบ 100% แบบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้งหมดที่เปิดโอกาสเด็กทั่วประเทศมาสอบ เหมือนเป็นเขตบริการของประเทศทุกคนมีสิทธิ อาจจะมุ่งเน้นที่สร้างเด็กเก่ง แต่ในความจริงเรายังมีเขตพื้นที่บริการอยู่ และการศึกษาของเราไม่ได้ดูแลเรื่องเด็กเก่ง ยังมีเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย”ว่าที่ร.ต.ธนุ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image