ทีแคสเหลือ 2 แสนที่นั่ง ‘บริหารธุรกิจ มก.’ ม้ามืดแชมป์ยอดนิยม ‘ครุศาสตร์-นิเทศ’ ไม่ติดท็อปไฟว์ (คลิป)

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นประธานแถลงข่าวผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคสประจำปีการศึกษา 2562 ว่าถือเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าในการเข้ามหาวิทยาลัย แยกเป็นคณะและสาขาวิชา ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เพราะจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมากกว่าจำนวนนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญชัดเจน โดยการคัดเลือกทั้ง 5 รอบ สาขาที่เปิดรับจำนวน 91,340 สาขา 445,364 ที่นั่ง เริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แบ่งเป็นรอบที่ 1 คัดเลือกโดยพิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน สถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 67 แห่ง  รับ 130,140 ที่นั่ง ผ่านการคัดเลือกและยืนยันสิทธิ 58,364 รอบ2  โควต้า สถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 67 แห่ง  99,033 ที่นั่ง รอบ 3 รับตรงร่วมกัน สถาบันอุดมสึกษาเข้าร่วม 62 แห่ง  95,124 ที่นั่ง รอบ 4 แอดมิสชั่นส์ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 70 แห่ง 91,340 ที่นั่ง และรอบที่ 5  รับตรงอิสระ 29,727 ที่นั่ง

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการคัดเลือก รอบ 1-3 มีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกและยืนยันสิทธิ 151,806 คน  แบ่งเป็น รอบที่ 1 สมัคร 134,723 คน ยืนยันสิทธิ 58,364 คน คิดเป็น 44.85% รอบ 2 สมัคร 143,474 คน ยืนยันสิทธิ 51,213 คน คิดเป็น  51.71% และรอบ 3 สมัคร  108,121 คน ยืนยันสิทธิ 42,229 คน  คิดเป็น 44%  ส่วนรอบที่ 4 รับ 91,340 ที่นั่ง ผู้สมัคร 76,408 คน และรอบ 5 รับ 29,727 ที่นั่ง จะเห็นว่ามีที่นั่งเหลือในรอบที่ 5 อีกมาก ดังนั้น ใครยังไม่มีที่เรียนไม่ต้องเสียใจเพราะยังมีที่นั่งเหลืออีกมาก และยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรถ.) มหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งที่ไม่รับร่วมกับ ทปอ.อีกจำนวนมาก

ประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุด หรือได้รับความนิยมมากที่สุดในรอบที่ 3 นั้น 5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน (ภาคปกติ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สมัคร 3,151 คน รับ 30 คน อัตราการแข่งขัน 1:105.03  อันดับที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด (ภาคปกติ) มก. สมัคร 2,723 คน รับ 30 คน อัตราแข่งขัน 1L60.77 อันดับที่ 3  คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ภาคปกติ) มก.สมัคร 2,620 คน รับ 25 คน อัตราการแข่งขัน 104.80  อันดับที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมัคร 2,599 คน รับ 240 คน อัตราการแข่งขัน 1:10.83  และอันดับที่ 5 คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สมัคร 2,179 คน รับ 65 คน อัตราการแข่งขัน 1:33.52

ส่วนหลักสูตรที่มีอัตราการแข่งขันมากที่สุด 5 อันดับแรก รอบที่ 3 มีดังนี้  อันดับที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)(ภาคปกติ)  มก. มีผู้สมัคร 650 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 325.00  อันดับที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (การปกครองและการบริหารจัดการท้องถิ่น)(ภาคปกติ) มก. สมัคร 477 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 238.50  อันดับที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สมัคร 927 คน รับ 4 คน อัตราแข่งขัน 231.75 อันดับที่ 4 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล (หลักสูตร 2 ภาษา) วิชาเอกการออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มศว สมัคร 1,009 รับ 5 คน อัตราแข่งขัน 201.80 และอันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ (ภาคปกติ) มก. สมัคร 1,680 คน รับ 10 คน อัตราแข่งขัน 168.00

Advertisement

หลักสูตรที่มีผู้เลือกมากที่สุด 5 อันดับ 1 มากที่สุดในรอบที่ 3 นั้น มีดังนี้ อันดับที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. สมัคร 853 คน อันดับที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน (ภาคปกติ) มก. สมัคร 806 คน  อันดับที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) สมัคร 798 คน อันดับที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา สมัคร 691 คน และอันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ภาคปกติ) มก. สมัคร 675 คน

“จากผลการคัดเลือกที่ผ่านมาคณะยอดฮิตยังเป็นสายสังคม โดยสาขาที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ และภาษาต่างประเทศ เภสัชศาสตร์ รวมทั้งพยาบาล ซึ่งมีผู้สมัครเข้าเรียนมากกว่าสายวิทยาศาสตร์ ขณะที่ในส่วนของคณะครุศาสตร์และนิเทศศาสตร์ คนเลือกเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปีต่อไป ทปอ.จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอมาวิเคราะห์หาสาเหตุของการเลือกแต่ละคณะว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งในส่วนของนิเทศศาสตร์ อาจเป็นเพราะ สื่อมีการปิดตัวจำนวนมาก จึงทำให้ ที่เด็กเลือกเรียนน้อย” นายสุชัชวีร์กล่าว

นายพีรพงศ์ ตริยเจริญ  ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการสมัครทีแคสรอบ 4 ซึ่งปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้วนั้นอยู่ระหว่างการประมวลผล โดยยังยืนยันประกาศผลวันที่ 29 พฤษภาคมตามเดิมสำหรับหลักสูตรที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุด ในรอบที่ 4 นั้น 5 อันดับแรก มีดังนี้  อันดับที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) สมัคร 1,188 คน รับ 96 คน  อันดับที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์  หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) สมัคร 1,128 คน รับ 35 คน อันดับที่ 3  คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัคร 1,178 คน รับ 110 คน อันดับที่ 4 คณะนิติศาสตร์ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ มธ. สมัคร 1,043 คน รับ 97 คน  และอันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์  สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาคปกติ มบ.) สมัคร 975 คน รับ 75 คน

Advertisement

หลักสูตรที่มีอัตราการแข่งขันมากที่สุด 5 อันดับแรก รอบ 4 มีดังนี้  อันดับที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต  มน.มีผู้สมัคร 217 คน รับ 1 คน อัตราแข่งขัน 1:217 อันดับที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มน.สมัคร 192 คน รับ 1 คน อัตราแข่งขัน 1: 192 อันดับที่ 3  คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาตรบัณฑิต ภาคปกติ มบ. สมัคร 275 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 1: 137.50  อันดับที่ 4  คณะครุศาสตร์ การศึกษาปฐมวัย มอ. สมัคร 264 รับ 2 คน. อัตราแข่งขัน 1: 132 และอันดับที่ 5 คณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มศว สมัคร  447 คน รับ 4 คน อัตราแข่งขัน 1: 111.75

หลักสูตรที่มีจำนวนรับมากที่สุด 5 อันดับแรกรอบ 4 มีดังนี้ อันดับที่ 1 คณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต พื้นฐานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) สมัคร 376 คน อันดับที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ มอ. สมัคร 502 คน  อันดับที่ 3 คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ  สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จ.ปราจีนบุรี  สมัคร 234 คน อันดับที่ 4 คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ  สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า มจพ. สมัคร 128 คน และอันดับที่ 5  คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  สมัคร 18 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image