เรียนไทยได้จีน : นิทานสุภาษิตจีน (152) 成语故事 (一五二)

(ที่มาภาพ http://image.baidu.com)

นิทานสุภาษิตจีนที่ “เรียนไทยได้จีน” จะนำเสนอในฉบับนี้คือ 曲高和寡 qǔ ɡāo hè ɡuǎ (ฉวี่ เกา เฮ่อ กว่า) โดย คำว่า 曲 qǔ (ฉวี่) แปลว่า เพลง โทนเสียงเพลง 高 ɡāo (เกา) แปลว่า สูง เพลงที่มีเสียงสูง 和 hè (เฮ่อ) แปลว่าผู้ร่วม ผู้ร่วมร้องเพลง เพื่อนผู้รู้ใจ 寡 ɡuǎ (กว่า) แปลว่า น้อย ไม่มาก เมื่อรวมกันแล้วหมายถึงเพลงร้องที่มีทำนองเสียงสูงมาก คนที่จะร้องตามได้ก็น้อยลง เพลงเสียงสูงคนฟังน้อย ซึ่งใช้เปรียบเทียบกับคนที่มีความสามารถสูง หรือมีคุณธรรมสูง ก็ย่อมจะมีเพื่อนน้อยลง หรืออาจจะเข้าทำนองภาษิตของไทยเราก็คือ ยิ่งสูงยิ่งหนาว ทีนี้มาดูเรื่องราวในภาษิตคำนี้กัน

จีนในยุครัฐศึก 战国/戰國 Zhàn Guó จ้านกั๋ว รัฐฉู่ 楚国/楚國Chǔ Guó ฉู่กั๋ว นครรัฐใหญ่แห่งทางใต้ กำลังอยู่ในช่วงเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ ทำให้ผู้มีความรู้ความสามารถในยุคนั้นเข้ามาทำงานด้วยมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือ 宋玉 Sònɡ Yù ซ่ง ยวี่ เขาเป็นคนที่มีการศึกษาดี มีความรู้มาก ทั้งยังมีพรสวรรค์ด้านการโต้เถียง จึงไม่ค่อยมีใครโต้เถียงชนะเขา การอธิบายเหตุผลต่างๆ นานาทำให้คู่กรณีต้องยอมจำนนไปคนแล้วคนเล่า เจ้าเมืองฉู่จึงพอใจซ่ง ยวี่ยิ่งนัก เมื่อเป็นที่โปรดปราน ตำแหน่งหน้าที่การงานของเขาก็ย่อมก้าวหน้ารวดเร็วตามไปด้วย ซ่ง ยวี่ได้เป็นที่ปรึกษาคนสนิทของเจ้าเมือง สังคมมนุษย์ไม่ว่ายุคไหนๆ ก็ย่อมเกิดการอิจฉาริษยาต่อกัน ดังนั้น ซ่ง ยวี่ จึงเป็นเป้าหมายการโจมตีจากขุนนางอื่น การว่าร้ายใส่ความก็เข้มข้นขึ้น เจ้าเมืองรัฐฉู่ก็รู้ดี แต่ไม่ได้ทำการใดๆ จนเมื่อขุนนางหลายคนแอบมาเข้าเฝ้าใส่ความซ่ง ยวี่ ว่าเป็นคนสอพลอ เป็นพวกไส้ศึก และเป็นคนอันตรายต่างๆ นานา ต้องรีบหาทางกำจัดเสียแต่ต้น เมื่อมีคนพูดเสี้ยมบ่อยๆ เจ้าเมืองรัฐฉู่เริ่มลังเล แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ด้วยความรำคาญจึงเรียกซ่ง ยวี่เข้าพบ

และพูดความจริงให้ฟังว่า ท่านทำงานอย่างไร เหตุใดเหล่าขุนนางในวังจำนวนมากถึงไม่ชอบใจเจ้า มีขุนนางอีกไม่น้อยที่หาโอกาสว่าร้ายหรือทำร้ายเจ้า เมื่อมีคนจำนวนมากว่ากล่าวท่านไปในทางไม่ดี ท่านจะแก้ตัวอย่างไร มีเหตุผลใดที่จะทำให้ข้าเชื่อ และเลี้ยงดูท่านไว้ต่อไป ซ่ง ยวี่ได้โอกาสกราบทูลว่า ครั้นจะให้แก้ตัวตรงๆ ท่านอ๋องคงไม่อยากฟังเป็นแน่ ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างนักร้องในวงดนตรี นักร้องเสียงดีเมื่อยามร้องเพลงเป็นที่นิยม ก็จะมีผู้คนนับหมื่นชอบและร้องเพลงตามอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อนักร้องเลือกร้องเพลงเสียงสูง ก็ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนธรรมดา คนที่จะร้องเพลงตามได้ก็จะลดลงเหลือหลักพัน ถ้านักร้องคนนี้ร้องเพลงที่เพิ่มเสียงสูงขึ้นอีก คนที่จะร้องเพลงตามได้ก็จะเหลือเพียงเหล่าขุนนาง บัณฑิตไม่กี่ร้อยคนที่จะเข้าใจและร้องเพลงตาม เมื่อนักร้องคนนี้เพิ่มเสียงร้องเป็นเสียงสูงสุดของโน้ตเพลง คนที่จะร้องเพลงตามได้นั้นย่อมเหลือเพียงหลักสิบ หรืออาจจะไม่มีใครร้องเพลงได้เลย เมื่อไม่มีคนร้องเพลงได้ คนก็กล่าวหาว่านักร้องคนนี้ร้องเพลงได้ไม่ดี และพวกเขาก็จะไม่ฟังและไม่ติดตามผลงานของนักร้องคนนี้อีก ทั้งที่นักร้องคนนี้ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่เป็นเพราะผู้ฟังไม่ชอบที่ทำตามเขาไม่ได้ เลยพาลว่าเขาไม่ดี เช่นนี้แล้ว ท่านอ๋องจะคิดตามชาวบ้านหรือไม่ว่า นักร้องคนนี้ไม่ดีเจ้าเมืองฉู่จึงตอบว่า แน่นอน นักร้องย่อมไม่ผิด เพราะเขามีพรสวรรค์ที่ร้องเพลงเก่ง แต่ชาวบ้านไม่ชอบเขา เพราะไร้ความรู้ความสามารถในการเข้าถึงเพลง เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ซ่ง ยวี่จึงสรุปว่า เช่นนี้แล้วก็เป็นธรรมดาที่ข้าพเจ้าจะไม่ค่อยมีเพื่อน จึงมีคนคอยว่าร้ายป้ายสีข้าพเจ้า

ข้อคิดจากประโยคสุภาษิตนี้

Advertisement

成语比喻:言论或作品不通俗,能了解的人很少。

成語比喻:言論或作品不通俗,能了解的人很少。

Chénɡyǔ bǐyù:Yánlùn huò zuòpǐn bù tōnɡsú, nénɡ liǎojiě de rén hěn shǎo.

Advertisement

เฉิงยหวี่ ปี่ยวี่ : เหยียนลุ่น ฮั่ว จั้วผิ่น ปู้ ทงสู, เหนิง เหลียวเจี่ย เตอะ เหริน เหิน เฉ่า

สุภาษิตเปรียบว่า ข้อคิดหรือผลงานที่ไม่เป็นที่นิยม คนที่จะเข้าใจก็ย่อมน้อยตาม

ประโยคตัวอย่างที่ใช้สำนวนสุภาษิตนี้ เช่น

他的建议太理想化了,所以曲高和寡,没有引起社会的关注。

他的建議太理想化了,所以曲高和寡,沒有引起社會的關註。

Tā de jiànyì tài lǐxiǎnɡhuà le, suǒyǐ qǔɡāohèɡuǎ, méiyǒu yǐnqǐ shèhuì de ɡuānzhù.

ทา เตอะ เจี้ยนอี้ ไท่ หลีเสี่ยงฮว่า เลอะ, สัวอี่ ฉวี่ เกา เฮ่อ กว่า, เหมย์โหย่ว อิ๋นฉี่ เฌ่อฮุ่ย เตอะ กวานจู้

คำแนะนำของเขาเปี่ยมด้วยอุดมการณ์มากเกินไป ดังเช่นเพลงเสียงสูงคนฟังน้อย จึงไม่ดึงดูดความสนใจจากสังคม

ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image