ฮือฮา! “หม้อมีนม” ฝังพร้อมศพชาย 4,000 ปีที่สุพรรณฯ นักโบราณคดีคาด สื่อการ “เกิดใหม่” ในครรภ์มารดา

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีการจัดนิทรรศการชุด “คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยหนึ่งในวัตถุจัดแสดง คือ “หม้อมีนม” ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ รูปทรงแปลกตา โดยมีการปั้นชิ้นส่วนคล้ายเต้านมสตรี 4 เต้า สร้างความสนใจให้ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก

นางสาวสุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการประจำสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กล่าวว่า หม้อมีนมที่จัดแสดงในนิทรรศการ พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยพบมานานหลายปีแล้ว แต่เพิ่งทราบว่าเป็นภาชนะที่มีรูปร่างเช่นนี้เมื่อ พ.ศ. 2556 เพราะก่อนหน้านั้นไม่ได้พบจากการขุดค้น จึงมีแต่เศษชิ้นเล็กๆ ที่ไม่สามารถนำมาประกอบให้สมบูรณ์เป็นรูปร่างได้  หม้อใบนี้ถูกทุบให้แตกแล้วปูรองศพชายคนหนึ่งเมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว จัดอยู่ในยุคหินใหม่ รูปแบบของภาชนะดินเผามีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จงใจทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมโดยเฉพาะ สันนิษฐานว่ารูปทรงที่คล้ายหญิงตั้งครรภ์ และนมทั้ง 4 เต้า รวมถึงบริเวรณไหล่ภาชนะที่มีลาดลายเกี่ยวกระหวัด อาจเป็นระบบสัญลักษณ์อันสื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิดในครรภ์มารดาก็เป็นได้

หม้อมีนม

“ภาชนะนี้ถูกทุบให้แตกแล้วปูรองศพ เจอในหลุมขุดค้นปะปนกับภาชนะอื่นๆ จึงต้องจัดจำแนกออกมาแล้วช่วยกันประกอบ ซึ่งใช้เวลาถึง 6 เดือน ตอนแรกคิดว่าส่วนที่เป็นนม 4 เต้าคือขาภาชนะ แต่พอต่อได้เป็นรูปเป็นร่าง ก็เริ่มเดาออกว่าเป็นนม 4 ข้าง รูปร่างโดยรวมดูแล้วเหมือนคนท้อง มีการทำรูปนม 4 เต้า และลายตรงไหล่ที่เกี่ยวกันเหมือนรูปตัวเอส อาจสื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิด คือให้ผู้ตายได้เกิดใหม่ในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นความเชื่อที่พบมากในชุมชนโบราณ ภาชนะรูปทรงพิเศษแบบนี้ ทำขึ้นสำหรับพิธีกรรมโดยเฉพาะ”

Advertisement

นางสาวสุภมาศ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากหนองราชวัตร ที่อำเภอหนองหญ้าไซแล้ว ยังพบหม้อมีนมที่แหล่งโบราณคดีอีก 2 แห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ หนองปลากระดี่ อำเภอด่านช้าง และบ้านหัวอุด อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำกระเสียว  นอกจากนี้ ยังพบว่าวัฒนธรรมบ้านเก่า ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีภาชนะรูปทรงคล้ายคลึงกันแต่ไม่มีนม ดังนั้น หม้อมีนมเป็นพัฒนาการของพื้นที่กลุ่มวัฒนธรรมย่อย

สำหรับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จากการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์พบว่า เป็นชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ราว 4,200-3,000 ปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นสังคมหมู่บ้านที่มีแบบแผน มีการประกอบพิธีกรรมความเชื่อร่วมกัน สามารถผลิตภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งอย่างประณีต มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆในลุ่มน้ำเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรในการดำรงชีวิต

 

ชมนิทรรศการชุด “คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา” ได้ตั้งแต่วันนี้-21 สิงหาคมที่พระที่นั่งอิสราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ใกล้ท้องสนามหลวง)เปิดทำการทุกวัน (เว้นจันทร์-อังคาร) 09.00-16.00 น.

 

หม้อมีนม

หม้อมีนม

หม้อมีนม

 

คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image