‘สพฐ.’ ขอความร่วมมือทุก ร.ร.เปิดเพลง ‘สดุดีจอมราชา’ เร่งแก้ปัญหา น.ร.ทุพโภชนาการ

‘สพฐ.’ ขอความร่วมมือทุก ร.ร.เปิดเพลง ‘สดุดีจอมราชา’ เร่งแก้ปัญหา น.ร.ทุพโภชนาการ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า เพื่อปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีให้นักเรียนในสังกัดสพฐ. ต่อไปจะแจ้งขอความร่วมมือให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ และโรงเรียนทุกแห่ง เปิดเพลง “สดุดีจอมราชา” ซึ่งเป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพลง “จิตอาสา” ในโรงเรียนทุกวันโดยให้เลือกเปิดตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความเป็นพลเมืองดีให้กับนักเรียน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเรื่องโภชนาการของเด็กเป็นอย่างมาก และตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องภาวะโภชนาการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2561 พบข้อมูลนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ดังนี้ ในระดับชั้นอนุบาล มีจำนวนนักเรียน 955,320 คน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 143,302 คน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ 103,038 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ 111,361 คน ระดับชั้นประถมศึกษา มีจำนวนนักเรียน 3,084,336 คน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 297,072 คน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ 243,047 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ 583,831 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีจำนวนนักเรียน 1,648,359 คน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 84,185 คน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ 86,574 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ 370,298 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวมกับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวนนักเรียน 916,691 คน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 53,138 คน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ 46,060 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ 215,527 คน

“ดังนั้นทุกโรงเรียนต้องตระหนักถึงเรื่องการส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี เพราะนอกจากนักเรียนมีสุขภาพดีแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งสพฐ. มีความห่วงใยและกังวลในเรื่องนี้ ต่อไปจะเสนอแนะให้กับ สพท.และโรงเรียนทุกแห่ง นอกเหนือจากการดูแลเรื่องอาหารกลางวันให้นักเรียนแล้ว อยากให้ตรวจสอบ ดูแลเพิ่มเติมในเรื่องอาหารเช้าด้วย โดยสำรวจว่ามีนักเรียนไม่ได้ทานอาหารเช้าจำนวนเท่าใด เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ โดยให้โรงเรียนไปบริหารจัดการว่าสามารถสนับสนุนอาหารเช้าให้นักเรียนได้ในรูปแบบไหน เพื่อให้นักเรียนรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เช่น ขอความร่วมมือผู้ปกครองจัดอาหารให้กับนักเรียน หรือปลูกผักทำอาหารกินเอง ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นต้น และในส่วนของโรงเรียนมัธยมศึกษา สพฐ.อยากให้โรงเรียนดูแล ตรวจสอบนักเรียนที่ไม่ได้ทานอาหารเช้าเพิ่มเติมด้วย” นายสุเทพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image