ปรับเล็กทีแคสปี’63 รอบ 1-2 ยืนยันสิทธิพร้อมกัน-เพิ่มข้อสอบภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการดำเนินการรับสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้หารือเกี่ยวกับการปรับระบบการรับสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2563 เบื้องต้นจะเป็นการปรับเล็ก โดยยังคงให้มีการรับสมัครทีแคส 5 รอบ และให้เด็กมีโอกาสสละสิทธิ 1 ครั้ง รอบใดก็ได้เช่นเดิม แต่จะปรับขั้นตอนการรับสมัครในรอบ 1 พิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน และรอบ 2 โควต้าในพื้นที่ โดยให้มายืนยันสิทธิพร้อมกันในรอบ 2 ครั้งเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสตัดสินใจเลือกเรียนในคณะ/สาขา ที่ต้องการมากขึ้น ลดปัญหาเด็กสละสิทธิรอบ 1 เพื่อมาสอบโควต้ารอบ 2 ซึ่งหากไม่ติดเด็กก็จะเสียเวลาไปลุ้นในรอบต่อไป ส่วนรอบ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบ 4 แอดมิสชั่นส์ เดิมมีแนวคิดจะนำรวมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน แต่เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเกิดความสับสน จึงยืนยันให้แยกรับสมัครเช่นเดิม รวมถึงจะมีการเพิ่มข้อสอบภาษาอังกฤษทุกวิชา เพื่อให้เด็กที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ เช่นเด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น ได้เข้าใจข้อสอบมากขึ้น ยกเว้นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เพราะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ใช่ ทปอ.

“ข้อสรุปดังกล่าวยังไม่ถือเป็นมติ แต่เป็นแนวทางที่จะเสนอให้ที่ประชุม ทปอ. พิจารณาในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายน ที่ จ.อุบลราชธานี โดยสาเหตุที่ยังไม่นำการรับสมัครทีแคสรอบ 3 และรอบ 4 มารวมกัน เพราะไม่อยากให้ผู้ปกครองและนักเรียนเกิดความสับสน โดยการรับสมัครทีแคสรูปแบบนี้จะใช้ไปอีก 2 ปี คือปี 2563 และ 2564 จะปรับใหญ่อีกครั้งในปีการศึกษา 2565 เป็นการเพิ่มข้อสอบในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถวัดความถนัดของเด็กได้อย่างแท้จริง รวมถึงลดข้อสอบที่ซ้ำซ้อนลงด้วย” นายชาลีกล่าว

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ในส่วนของการสละสิทธิจะสละได้ครั้งเดียวรอบใดก็ได้เช่นเดิม หรือปรับให้สละสิทธิรอบต่อรอบก็ได้นั้น ไม่มีปัญหาอะไรที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ทำให้ได้มีโอกาส ก็พร้อมดำเนินการตาม ส่วนการลดจำนวนรอบการสมัครนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรลดลง เหลือไม่เกิน 3 รอบ เพราะจำนวนรอบที่มากทำให้ระยะเวลาการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยนานตามไปด้วย ขณะที่การสอบวิชาต่างๆ ก็ไม่ควรมากเกินไป เพราะอาจเป็นภาระของเด็กและผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับมติ ทปอ. ซึ่งอะไรที่เป็นประโยชน์กับเด็กก็ยินดีดำเนินการ

“สำหรับการรับเด็กเข้าเรียนของ มก.ปีนี้ภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมาย มีบางสาขาเด็กล้น บางสาขาเด็กขาด โดยเฉพาะในส่วนของวิทยาเขตที่รับเด็กได้น้อยลง อาจเพราะจำนวนเด็กลด ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีมากขึ้น ซึ่ง มก.เองพยายามปรับตัว กำหนดจำนวนรับแต่ละคณะให้กระชับขึ้น โดยเฉพาะคณะที่เปิดสอนด้านการเกษตร ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ ประมง สัตวแพทย์ อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน แม้จะรับเด็กเข้าเรียนได้ตามเป้าแต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนเด็กเข้าเรียนน้อยลงกว่าที่ผ่านมา จากหลักพันคนเหลือหลักร้อยคน” นายจงรักกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image