ยุบควบรวมโรงเรียน : เฉลิมพล พลมุข

การจัดการศึกษาที่ดีของรัฐบาลในประเทศก็คือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองเพื่อไปพัฒนาประเทศในบริบทต่างๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม การเมือง ย่อมต้องเล็งเห็นผลถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของประชากรชาติในแต่ละคนที่เขาเหล่านั้นจะเป็นพลังของชาติในวันข้างหน้าที่ระบบการแข่งขันในประเทศต่างๆ และระดับโลกได้มีการติดตามประเมินองค์กร หน่วยงานการทำงานในระดับประเทศเพื่อนำเสนอในระดับโลก

สังคมไทยเราได้มีจัดระบบการศึกษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา มาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาในสมัยก่อนเด็กผู้ชายมีโอกาสดีกว่าเด็กผู้หญิงในบริบทความเชื่อหนึ่งที่ว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง เด็กผู้ชายสมัยอดีตกาลที่ผ่านมาก็ถูกฝากตัวไว้กับพระในวัดเพื่อสอนหนังสือ อบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม วิชาชีพที่ตนถนัดและชอบ เมื่อเติบโตมาระยะหนึ่งแล้วก็อาจจะได้บรรพชาอุปสมบทเป็นสามเณรหรือพระภิกษุในศาสนา โรงเรียนในอดีตก็ตั้งอยู่ในวัด มีพระเป็นบุคลากรที่สอนหนังสือให้แก่กุลบุตร

ระบบการศึกษาไทยได้ถูกกล่าวถึงระบบให้มีการปฏิรูปการศึกษามากที่สุดในยุคหนึ่งในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เมื่อพระองค์ท่านได้เสด็จประพาสยุโรป ได้นำความเจริญรุ่งเรืองจากตะวันตกในบริบทต่างๆ มาปรับใช้กับคุณภาพชีวิตประชากรของสยามหรือคนไทยเรา โรงเรียนในสังคมไทยเราหลายโรงเรียนได้ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5-6 (พ.ศ.2411-2468) อาทิ โรงเรียนราชินี โรงเรียนนายทหารสราญรมย์ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

มาถึงในวันเวลานี้หน่วยงานหนึ่งในระดับโลกก็คือ ธนาคารโลกได้มีข้อเสนอแนะในที่ประชุมของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศได้มีการควบรวมโรงเรียนจาก 30,506 โรงเรียนให้เหลือ 17,766 โรงเรียน จากห้องเรียน 344,009 ห้องเรียนให้เหลือ 259,561 ห้องเรียนและลดจำนวนครูบุคลากรทางการศึกษาจาก 475,717 คนให้เหลือ 373,620 คน ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบบค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แต่ผลสัมฤทธิ์หรือประสิทธิภาพ คุณภาพทางการศึกษาลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

ผู้เขียนใคร่ขอนำตัวเลขหนึ่งที่ถูกนำเสนอในรายการโทรทัศน์ศาสตร์พระราชา การพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อเร็ววันมานี้ก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ทั่วประเทศในจำนวน 14,796 โรงเรียน โดยสังกัดประถมศึกษา 14,618 โรงเรียน สังกัดมัธยมศึกษา 178 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีนักเรียนที่ต่ำกว่า 40 คน ในจำนวนโรงเรียน 2,845 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นสังกัดประถมศึกษา 2,842 โรงเรียนและสังกัดมัธยมศึกษา 3 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่อยู่ตามเกาะหรือชายขอบ 123 โรงเรียน มีโรงเรียนขยายโอกาส 7,034 โรงเรียน และโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียน ม.1-3 รวมกันต่ำกว่า 30 คนมีในจำนวน 937 โรงเรียน

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.ได้นำเสนอของตัวเลขของการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในจำนวน 15,000 แห่งทั่วประเทศ โดยให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มีบริเวณอยู่ใกล้เคียงกันให้หยุดรับนักเรียนชั้น ม.1 ด้วยเหตุผลที่มีจำนวนเด็กน้อย ไม่มีกิจกรรมกับเพื่อนรุ่นเดียวกันและจะส่งผลเสียถึงคุณภาพด้านการศึกษา โดยตัวเลขของโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศมีประมาณ 18,000 โรงเรียน หรือคิดเป็น 50% ของโรงเรียนทั้งประเทศ

การควบรวมหรือยุบโรงเรียนมีสภาพปัญหาหนึ่งก็คือ มีครูไม่ครบชั้นเรียน งบจัดการศึกษากับตัวเลขของนักเรียนมิได้มีความสมดุลกัน บางโรงเรียนในหนึ่งวิชาต้องมีนักเรียนมานั่งเรียนกันทั้ง ป.1-ป.3 หรือ ป.4-ป.6 หรือครูที่จบเอกสาขาหนึ่งต้องไปสอนในวิชาที่ตนไม่ถนัด รวมถึงต้องทำงานอื่นที่นอกเหนือจากการสอนไปเพื่อให้ระบบการศึกษาดำเนินไปได้ (mgronline.com)

Advertisement

การยุบควบรวมโรงเรียนที่เป็นของรัฐดูเสมือนจะสะท้อนในปัญหาที่ถูกตั้งคำถามทั้งจากผู้ปกครอง ชุมชน บุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบในข้อเท็จจริงที่ว่า ตัวเลขประชากรของเด็กเกิดใหม่มีตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับจนกระทั่งของรัฐบาล คสช.ต้องมีนโยบายอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 400 บาทต่อเดือนในระยะแรกและเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาทต่อเดือนไปจนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 3 ปี ซึ่งมีตัวเลขเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือมากกว่า 5 แสนคน ซึ่งหลักการดังกล่าวอยู่ในแผนของการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ หรือที่เรียกว่า “มารดาประชารัฐ” โดยมารดาที่ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ได้ค่าทำคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเลี้ยงเด็กเดือนละ 2,000 บาทจนครบ 6 ขวบ เป็นเงิน 144,000 บาท หรือรวมต่อเด็ก 1 คน เป็นจำนวนเงิน 181,000 บาท

ข้อเท็จจริงหากเราท่านได้ออกไปนอกเมืองหลวงหรือกรุงเทพมหานครในระยะทางไม่เกินสองร้อยกิโลเมตรในจังหวัดที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการ เราท่านจะพบเห็นถึงโรงเรียนที่อยู่ใกล้ถนนที่รถวิ่งสวนทางกันไปมาบางโรงเรียนที่นักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติในเวลาเช้า มีนักเรียนไม่มากนัก ครูต้องจัดให้นักเรียนยืนกันห่างๆ เว้นระยะไว้เพื่อให้ดูเสมือนว่ามีนักเรียนมาก บางโรงเรียนในเวลาบ่ายจะพบเห็นนักเรียนวิ่งเล่นกันในสนามฟุตบอล ความใหญ่โตของอาคารเรียน ห้องเรียนกับจำนวนของนักเรียนมิได้มีความสมดุลกัน ขณะเดียวกัน ชีวิตของครูส่วนหนึ่งต้องไปทำงานผลงานวิชาการ ทำงานชุมชนท้องถิ่น หรือวันเสาร์อาทิตย์ครูที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนนั้นก็เปิดสอนพิเศษให้กับนักเรียนอยู่พบเห็นอยู่ในบางโรงเรียน

ช่วงเวลาหนึ่งชีวิตของผู้เขียนเองได้มีโอกาสรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการสถานศึกษาแห่งหนึ่ง การประชุมเพื่อรับทราบถึงนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะที่ผ่านมาจากรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านผู้อำนวยการเขตการศึกษาไปยังโรงเรียน การที่ต้องรับทราบและเห็นชอบในการอนุมัติโครงการ กิจกรรม ผลนโยบายของการศึกษาเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของตัวชี้วัดยังมีทั้งคำถามและคำตอบอยู่ในข้อเท็จจริง ชีวิตครูส่วนหนึ่งที่เป็นข้าราชการหากถูกมอบหมายให้มีความรับผิดชอบมากที่ตนไม่ถนัด หรืออาจจะมีความเห็นแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารก็ทำให้การมีชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางความกดดันและมีความทุกข์ ภาวะเช่นนี้ได้ส่งไปยังคุณภาพที่ส่งต่อไปยังศิษย์ และคุณภาพชีวิตของครอบครัวอาทิ การกู้หนี้ยืมสิน การเป็นหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

ความแตกต่างของโรงเรียนที่อยู่ในเป้าหมายของการควบยุบโรงเรียน กับโรงเรียนบางแห่งที่มีชื่อเสียงในเมือง ที่มีตัวเลขของนักเรียนในโรงเรียนตนสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนระดับที่มีชื่อเสียงในระดับสูงขึ้นไป ได้ถูกนำเสนอด้วยแผ่นภาพขนาดใหญ่อยู่หน้าโรงเรียน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาที่อยู่ในสภาพของกลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็คือ เงินอุดหนุนโรงเรียนนอกใบเสร็จหรืออาจจะมีคำเรียกที่ว่า
“เงินแป๊ะเจี๊ยะ” โรงเรียนบางแห่งมีเงินคงเหลือจ่ายอยู่ในจำนวนที่สำนักงบประมาณของรัฐที่มิอาจจะเข้าถึง ผู้บริหารบางคนอาจจะมีกุศโลบายเพื่อการศึกษาโดยจัดให้อยู่ในโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศและการท่องเที่ยวยังมีอยู่ในข้อเท็จจริง

การวิ่งเต้นโยกย้ายเพื่อให้เพื่อให้ตนได้กลับไปอยู่ในบ้านเกิดภูมิลำเนา หรือโยกย้ายไปสู่ผู้บริหารในระดับสูงยังถูกนำเสนอจากสื่อของเมืองไทยในวันเวลาที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาชู้สาวระหว่างผู้บริหารกับครูผู้สอนในโรงเรียน การทุจริตคอร์รัปชั่นจากการจัดซื้อจัดจ้าง การฟ้องร้องที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย รวมถึงการให้ออกหรือไล่ออกจากราชการก็ยังคงมีอยู่ในข้อเท็จจริงเช่นกัน

โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดหรือที่เรียกว่า เออร์ลี่รีไทร์ หลังจากปี พ.ศ.2556 เราท่านมักจะไม่ค่อยได้ยินที่เป็นข่าวที่ถูกนำเสนอต่อสังคมมากนัก ในเรื่องดังกล่าวได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2555 หรือเมื่อเจ็ดปีที่แล้วมา โดยกำหนดให้ข้าราชการที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปได้เข้าโครงการ ดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของกลุ่มเป้าหมาย หรือในจำนวน 12,231 คนของเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยมีสิ่งจูงใจก็คือจะได้รับเงินก้อน 8-15 เท่าของอัตราเงินเดือน

ขณะเดียวกัน ในปีดังกล่าวได้มีประกาศแต่งตั้งผู้สอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย มีผู้เข้าสอบ 108,098 คน จากตำแหน่งที่ว่างสามารถบรรจุได้ 1,534 ตำแหน่ง จำนวนตัวเลขของการเปิดให้เออร์ลี่รีไทร์กับตัวเลขของการบรรจุครูผู้ช่วยเข้าใหม่ดูเสมือนเป็นตัวเลขที่สวนทางกัน ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ ครูส่วนหนึ่งได้ขยับวิทยฐานะหรือตำแหน่งหน้าที่ขึ้นในระดับสูงขึ้นหรือมีการย้ายไปสู่สถานศึกษาที่มีนักเรียนมากและมีชื่อเสียง ครูเข้าใหม่ส่วนหนึ่งต้องการพี่เลี้ยงที่ต้องการคำแนะนำถึงประสบการณ์วิธีการทำงาน

หากครูผู้ช่วยบรรจุใหม่คนนั้นได้ไปอยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายหรือเป้าหมายของการควบยุบรวม ขวัญกำลังใจและความก้าวหน้าในชีวิตก็เป็นบริบทหนึ่งที่อยู่ในคำถาม

การยุบกิจการหรือปิดเลิกกิจการหากเป็นธุรกิจเอกชน หรือบริษัทก็มิจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไปเพราะเนื่องด้วยต้องปฏิบัติตามกฎข้อระเบียบของกฎหมายที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว การปิดกิจการหรือยุบกิจการของโรงเรียนเอกชนยังมีอยู่ทั้งในข้อเท็จจริง ข้อมูลหนึ่งในเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้วได้มีโรงเรียนเอกชนได้ปิดการไปถึง 13 โรงเรียน ด้วยสภาพปัญหาของผู้ปกครองบางคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักหรือไม่มีกำลังพอที่จะส่งบุตรหลานของตนเข้าศึกษาในโรงเรียนดังกล่าว ครูส่วนหนึ่งได้ลาออกไปเนื่องด้วยสอบบรรจุเข้ารับราชการ การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในโครงการอาหารกลางวัน ด้านทรัพยากร สิทธิของครู และโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีผู้ปกครองค้างค่าเทอมกว่า 90% อาจจะรวมถึงความก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิต

ข้อเท็จจริงหนึ่งอาจจะมิมีเสียงดังถึงในระดับรัฐบาลของประเทศก็คือ มีโรงเรียนเอกชนบางแห่งต้องนำสินทรัพย์โฉนดที่ดิน อาคารห้องเรียนสิ่งก่อสร้าง เพื่อไปขอเงินกู้จำนองจากธนาคารมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารการศึกษา เพื่อให้ธุรกิจของโรงเรียนดำเนินไปได้ การถูกยึดกิจการหรือการขายฝาก หรือถูกเทกโอเวอร์จากทุนข้ามชาติ หรือทุนใหญ่ในประเทศยังอยู่ในข้อเท็จจริง รัฐบาลได้เข้าถึงข้อมูลและได้ให้ความช่วยเหลือถึงระบบการศึกษาในการสร้างชาติบ้านเมืองด้วยหรือไม่

คำถามหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกหลานไปยังรัฐบาลที่ผ่านมารวมถึงรัฐบาล ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2562 ตอนหนึ่งที่ว่า “ตนได้ให้คำมั่นสัญญาไปแล้วว่าตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ร่วมกับ ส.ส.และ ครม. ต่างๆ ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกันในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ปลอดภัย ยั่งยืนต่อไป เราจะมีแต่รอยยิ้มให้กัน…”

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นคำมั่นสัญญาต่อสังคมทั้งพฤตินัยและนิตินัยของความเป็นผู้นำของรัฐ การบริหารประเทศในเวลานี้คงไม่เหมือนเดิมเมื่อห้าปีที่ผ่านมาแล้ว คุณภาพชีวิตทั้งของนักเรียน ครูอาจารย์ ข้าราชการทุกกระทรวงต้องการขวัญกำลังใจที่จะเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดินไปจนหมดลมหายใจ หวังว่าคงไม่ลืม…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image