‘สพฐ.’ ตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายรับ น.ร.ปี’63 ก่อนให้ รมว.ศธ.คนใหม่เคาะ

‘สพฐ.’ ตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายรับ น.ร.ปี’63 ก่อนให้ รมว.ศธ.คนใหม่เคาะ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หารือนโยบายการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 ซึ่งที่ประชุม กพฐ.เสนอให้โรงเรียนที่มีศักยภาพรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ม.4 ด้วยวิธีการสอบสอบ 100% ซึ่งอาจจะต้องทบทวนจำนวนโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง ว่ามีศักยภาพเป็นโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงจริงหรือไม่ และโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกอาจกำหนดชื่ออื่น เช่น โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษนั้น ว่า ตนทราบแนวคิดดังกล่าวแล้ว ต่อไป ที่ประชุม กพฐ.และ สพฐ.จะส่งตัวแทนเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นคณะทำงานกำหนดแนวทางนโยบายการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายรับนักเรียนให้สอดคล้องกัน

ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวต่อว่า แนวนโยบายรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ.ได้ให้นโยบายว่าการรับนักเรียนจะต้องกระจายอำนาจลงไปยังจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มากขึ้น ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ที่จะทราบบริบท ปัญหาและความต้องการของจังหวัดตนเอง ซึ่ง สพฐ.จะกระจายอำนาจให้ กศจ. ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ผู้อำนวยการ สพท. ตัวแทนจากโรงเรียนเอกชน ตัวแทนจากอาชีวศึกษา ไปหารือกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนให้สอดคล้องกับบริบท ความต้องการของพื้นที่ และ สพฐ.ซึ่งเป็นส่วนกลางจะให้หลักการนโยบายการรับนักเรียนอย่างกว้างๆ ไป เช่น กศจ. และ สพท.ต้องให้นักเรียนทุกคนเข้าเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ รวมถึงส่วนสัดส่วนการรับนักเรียน ที่ผ่านมาพบปัญหารัฐและเอกชนมีความไม่เข้าใจกันบางส่วน จะให้ กศจ. เอกชน รวมถึงอาชีวะ กำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนในพื้นที่ของว่าจะต่อยอดและเชื่อมโยงกันอย่างไร

“ทั้งนี้นโยบายการกระจายอำนาจ การกำหนดโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ ให้สอบ 100% และแนวคิดต่างๆ ที่ประชุม กพฐ.เสนอมา จะนำมาวิเคราะห์ หารือร่วมกันในทุกประเด็น ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นว่าดีหรือไม่ ควรปรับปรุงแก้ไขเรื่องใด หากเห็นว่าเรื่องไหนยังไม่ถึงเวลา ยังไม่พร้อมปฏิบัติ มีวิธีการอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ เพราะถ้า สพฐ.กำหนดนโยบายจากส่วนกลางลงไป กลายเป็นตัดเสื้อตัวเดียวให้ใส่ทั่วประเทศ ควรจะกระจายอำนาจลงไปในทุกจังหวัดมากขึ้น คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะได้ร่างนโยบายการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 เพื่อนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่พิจารณาต่อไป”ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image