อดีตผอ.คุรุพัฒนา เชื่อเด็กคิดเอง ปม ‘พานไหว้ครู’ชี้ยุคนี้ปิดกั้นไม่ได้ แต่อย่าลืมกาลเทศะ

“สังคมมันเปลี่ยนแล้ว จะไปปิดกั้นไม่ให้เด็กรับรู้ มันเป็นไปไม่ได้”

คือความเห็นของ “ร.ศ.มนตรี แย้มกสิกร” อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ต่อคำกล่าวที่ว่า “การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก”

ทั้งยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่มากมายด้วยข่าวสาร สื่อทะลุทะลวงถึงทุกกลุ่ม มี “บิ๊กดาต้า” ข้อมูลมหาศาลมีให้ค้นคว้าผ่านโลกออนไลน์ เด็กมีสิทธิในการคิด วิเคราะห์และแสดงออก แต่ควรเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งเป็นหน้าที่ของระบบการศึกษา โรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่ต้องให้วิธีคิด มุมมอง และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้อง หากเด็กทำในสิ่งที่ครูคิดว่าไม่สมควร ต้องคุยกัน แล้วปล่อยให้คิดเอง

“สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องคิดว่าเราจะให้การศึกษากับเด็กอย่างไรให้รู้จักคิด วิเคราะห์และเรียนรู้ เพราะเราปฏิเสธยุคสมัยไม่ได้ จะปิดกั้นไม่ให้เด็กแสดงออกไม่ได้ สิ่งที่เด็กแสดงออกขึ้นอยู่กับพื้นที่ฐานที่เขาได้รับข้อมูลอะไรมา ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ควรคุยกับเด็กด้วยและเหตุผล แต่อย่าไปบังคับให้ลบรูป ต้องให้เด็กคิดเอง หลายเรื่องที่โพสต์ อาจไม่นึกว่าจะไปแรงและเร็วมาก ถึงลบวันนี้ก็ไม่ทันแล้ว”

Advertisement
“ร.ศ.มนตรี แย้มกสิกร” อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

ส่วนกรณีที่บิ๊กป้อมมองว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำ เพราะเด็กคิดเองไม่ได้ ร.ศ.มนตรี บอกว่า ยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของเด็ก ส่วนประเด็นที่ว่า การทำพานไหว้ครูแบบที่ไม่ใช่แค่ดอกบานไม่รู้โรย ดอกมะเขือ ดอกเข็ม แซมหญ้าแพรก เป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีถึงขั้นทำลายวัฒนธรรมตามที่นักการเมืองบางรายชี้เป้าหรือไม่นั้น มองว่า ต้องแยกประเด็นระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับกาลเทศะ

“ไม่ได้ห้ามเรื่องความคิดในด้านการเมืองและการสร้างสรรค์ แต่การทำพานไหว้ครูเป็นเรื่องการเมืองมองว่าไม่เหมาะสม เพราะนี่เป็นวาระและโอกาสการแสดงออกในการเคารพครูบาอาจารย์ ต้องสะท้อนถึงผู้มีพระคุณ”

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือการที่เด็กไทยในยุคนี้มีความสนใจในการเมืองทะลุเพดานจากชั้นอุดมศึกษา เข้าสู่รุ่นกระโปรงบาน ขาสั้น คอซอง สะท้อนผ่านพานไหว้ครู เทียบเคียงพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษรเสียดสีสังคมที่คุ้นตาในการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

Advertisement

ประเด็นนี้ อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนามองว่า “ไม่เกินคาด” และนี่คือ “พัฒนาการทางการศึกษา” ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

“ผมมองว่านี่คือพัฒนาการทางการศึกษาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนนับวันยิ่งสามารถนำเรื่องยากๆ ที่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัยลงมาอยู่ในชั้นมัธยม อย่างแคลคูลัส เคยสอนในระดับอุดมศึกษา ตอนหลังก็ลงมาในโรงเรียน นี่ก็เช่นเดียวกัน ทักษะการเรียนรู้ กระบวนการคิด วิเคราะห์ การวิจารณ์ เป็นเรื่องที่ไม่เกินคาดที่เด็กประถม มัธยมจะไปถึง เทคโนโลยีย่นระยะเวลาการเรียนรู้ของมนุษย์ลงได้ ไม่จำเป็นต้องรอไปจนถึงมหาวิทยาลัย

นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าครูและคนในวงการศึกษาจะปรับตัวเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในขณะที่เด็กไปไกล แต่ครูยังไม่ไป อันนี้น่าห่วง” ร.ศ.มนตรีกล่าว

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : จากพาเหรดถึง ‘พานไหว้ครู’ การเมืองเรื่องของใคร เด็กคิดไม่ได้ หรือผู้ใหญ่ไม่พร้อมรับมือ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image