สาธิต ‘นุ่งโจง’ กลางเสวนา นักวิชาการชี้ ชาวพระนครไม่นุ่งห่มผ้าสีเดียวกัน เดี๋ยวถูกมอง ‘บ้านนอก’

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่มติชนอคาเดมี จัดงานศิลปวัฒนธรรมเสวนาประกอบการสาธิต เรื่อง “ผ้ากับชีวิต ในราชสำนักฝ่ายใน” วิทยากรโดย นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และผู้เขียนหนังสือ “ผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์สยาม” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเสวนามีการสาธิตห่มสไบแบบเก่า แบบรัชกาลที่ 5 การนุ่งจีบ และการนุ่งโจง

นายธีรพันธุ์กล่าวตอนหนึ่งว่า คำว่าฝ่ายในหมายถึงผู้หญิง ส่วนใหญ่พำนักในพระราชฐานชั้นใน โดยธรรมเนียมของราชสำนักฝ่ายในสืบทอดแนวความคิดหลายประการจากกรุงศรีอยุธยา เพราะเวลา 417 ปีในการเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยาได้หยั่งรากลึกหลายด้าน อย่างไรก็ดี ช่วงปลายสมัยอยุธยาหลายอย่างลงตัวเป็นแบบแผน กระทั่งสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์มีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะสงคราม เศรษฐกิจ การเมืองในยุคนั้นๆ ทว่ายังคงมีรากเหง้าของสมัยอยุธยาอยู่ เมื่อถึงยุครัชกาลที่ 4-5 มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้พร้อมเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก เช่น ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 มีการรับเสื้อฝรั่งเข้ามาแล้ว พร้อมกับมีการขดลายที่ปลายแขน ทั้งนี้ ชาววังหรือชาวพระนครจะไม่นุ่งหรือห่มผ้าสีเดียวกัน เพราะถ้าสีเดียวกันจะมองว่าบ้านนอก ดังนั้น ในนวนิยายหลายเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้เรื่องเครื่องแต่งกายมักจะสอดแทรกไว้

นายธีรพันธุ์กล่าวว่า รัชกาลที่ 6 ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ ทรงบอกว่าเราคือชาติพันธุ์ไทยโดยมีรากเหง้าคือการนุ่งซิ่น ส่งผลให้แฟชั่นของฝ่ายในเปลี่ยนแปลง กลายเป็นนุ่งซิ่นกรอมเท้า ทั้งนี้ การนุ่งซิ่นของสตรีในราชสำนีก นอกจากซิ่นจะมาจากจีนหรืออินเดียแล้ว ยังมาจากท้องถิ่นด้วย เนื่องจากมีการพัฒนาสิ่งทอในท้องถิ่น ซึ่งเริ่มพัฒนามาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 มีการนำโจงกระเบนสมัยรัชการที่ 5 มาทำผ้าซิ่น โดยในยุคหลังเกิดการเคลื่อนของแฟชั่น เป็นจุดเปลี่ยนของการนุ่งจีบ นุ่งโจง สู่ซิ่นยาว ซิ่นสั้น และสมัยรัชการที่ 5 เป็นต้นมา เสื้อเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น เราอยู่ในวัฒนธรรมนุ่งห่ม มิใช่สวมใส่ จึงเรียกว่าเครื่องนุ่งห่มมาจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

“การดูแลผ้าโบราณนั้น สไบสามารถซักได้ โดยใช้เปลือกชะลูดทำความสะอาดด้วยการซักหรือต้ม จากนั้นนำมาจีบ ตามด้วยการอบร่ำ สำหรับผ้านุ่ง ใช้เปลือกชะลูดทำความสะอาดด้วยการซักหรือต้มเช่นเดียวกัน จากนั้นลงแป้งด้วยลูกซัด ขัดด้วยหอยเบี้ย ดังนั้น ผ้าที่ลงแป้งจะอยู่ตัวแต่มีความนิ่ม ส่วนผ้าทอง ใช้วิธีปั้นข้าวเหนียวแล้วกลึงบนผ้า เพื่อดึงสิ่งสกปรกออกไป อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติหนึ่งของลูกซัดคือ เมื่อเจอความร้อนของอุณหภูมิร่างกายคน จะส่งกลิ่นหอม ทั้งนี้ การนุ่งห่มผ้าในพระราชสำนักฝ่ายในที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ ชุดไทยราชนิยมซึ่งพบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ที่ยังคงธรรมเนียมโบราณคือการนุ่งยก ห่มตาด” นายธีรพันธุ์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image