ย้าย ‘ประตูแดง’ หลักฐานเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ 19

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ VOICE TV เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้รายงานว่า โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงการย้าย “ประตูแดง 6 ตุลาฯ” หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 นำไปจัดเก็บไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง โดยเล่าถึงความเป็นมาการจัดทำโครงการนี้ว่า เป็นการริเริ่มโดยการคุยกันของทีมงาน และผู้สนใจเรื่อง 6 ตุลาฯ ว่าหากปล่อยทิ้งไว้ ประตูซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีแต่จะผุพังไป และเสี่ยงต่อการถูกนำไปทิ้ง หรือปรับปรุงที่ดินใหม่ เพราะบริเวณข้างเคียงเริ่มมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร

“เราเสียดายถ้าอยู่มาวันหนึ่งมันจะหายไป แล้วไม่เก็บไว้ ดังนั้น ก็นำมาสู่การที่ดิฉันกับคุณภัทรพร เดินทางมาคุยกับเจ้าของบ้าน ว่าเราอยากจะขอประตูนี้ไปเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของรัฐ เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้ประจักษ์ ทางเจ้าของบ้านก็ยินดีที่จะให้ โดยแลกกับที่เราทำประตูใหม่ให้” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

รศ.ดร.พวงทองกล่าวอีกว่า ประตูแดงนี้เป็นเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของรัฐในขณะนั้น เขาเรียกกันว่าขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ในขณะนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เจอกับการลอบสังหาร หรือทำร้ายอย่างมาก

Advertisement

ด้านนายชุมพล ทุมไมย พี่ชายของ นายชุมพร ทุมไมย หนึ่งในผู้เสียชีวิตซึ่งถูกนำมาแขวนคอที่ประตูแดงแห่งนี้ ซึ่งเดินทางจาก จ.อุบลราชธานี มาร่วมสังเกตการณ์การปลดประตูแดงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา กล่าวว่า ตามวิสัยของธรรมชาติมนุษย์ ก็มีความรักความคิดถึงกัน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ นายชุมพรเป็นคนเรียบร้อย และเรียนหนังสือเก่ง เมื่อสอบการไฟฟ้าได้ มาเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของการเห็นต่าง

“ถึงกับต้องฆ่าแล้วประจานกัน มันเป็นเหตุที่ต้องมีความกล้าหาญนะ ทำได้เนอะ แต่ทำแล้วไม่มีอะไร ทำได้นี่ก็ดู การเมืองเป็นอย่างนี้แหละ เอาทั้งลับ และแจ้ง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสำหรับเขา” นายชุมพลกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้มีความคิดให้อภัยกับผู้สังหารน้องชายได้แล้วหรือยัง นายชุมพลกล่าวว่า ตนพยายามมาตลอด แต่ยังคงเสียใจอยู่ ที่จริงถ้าคิดอย่างนั้นได้เราเป็นสุขนะ มองว่าคนไหนก่อกรรมยังไงก็ได้แบบนั้น ก่อดีได้กรรมดี ก่อชั่วได้กรรมชั่วแค่นั้นแหละ ถ้าคิดอย่างนั้นก็สบายใจเหมือนกัน ทุกวันนี้ยังคงเก็บหนังสือพิมพ์ในช่วงวันที่ 24 กันยายน 2519 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ไว้เพราะเกี่ยวกับเรื่องของน้องตัวเอง จึงอยากจะเอาไว้เป็นหลักฐาน เอาไว้ดูพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร

“มันจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนี่ มันจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ไม่มีอดีต ณ ที่แห่งนี้อีกแล้ว ขอให้วิญญาณของน้องไปสู่ที่สุขสงบเถอะ อยากให้ประตูแดงนี้เป็นอุทาหรณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น” นายชุมพลกล่าวทั้งน้ำตา

ด้านนายนิตินัย คนึงเหตุ เจ้าของที่คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของประตูแดง กล่าวว่า เดิมทีที่แห่งนี้ไม่มีคนอยู่อาศัย จึงไม่ได้เปลี่ยน และไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม เพราะไม่มีเหตุผลเพียงพอ โดยผู้เป็นเจ้าของที่ดินในสมัยที่เกิดเหตุคือ พ.ต.อ.(พิเศษ) ธำรง คนึงเหตุ บิดาของตน ซึ่งซื้อที่ทิ้งไว้ขณะเป็นสารวัตร ทว่าในขณะเกิดเหตุย้ายไปประจำอยู่ที่โคราช เขต 3 ส่วนตัวเองค้าขายวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ตั้งเซียฮวด ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว

 

นายนิตินัยกล่าวอีกว่า เช้าวันนั้นทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ จำหัวเสาของบ้านได้ จึงขับรถมาดู และพบว่าเป็นบ้านตัวเอง แต่พอมาถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เคลื่อนย้ายศพออกจากพื้นที่ไปแล้ว จึงไม่ได้เห็นเหตุการณ์กับตา ซึ่งปัจจุบันพักอาศัยอยู่ในที่ดินแห่งนี้ จากเดิมที่เคยกลัว ก็เริ่มชินกับประตูรั้วบ้านแล้ว ยินดีมอบประตูแดงให้ทางโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ แลกกับประตูรั้วใหม่

“ถ้าเป็นประโยชน์กับทางประวัติศาสตร์ ก็ดีกว่าอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่ตรงนี้มันก็ชำรุด หมาลอดไปลอดมา แต่ถ้าไปเป็นประโยชน์ ไปเป็นประวัติศาสตร์ ไปเก็บให้ดีๆ เรื่องราวมันจะยาว ดีกว่าอยู่ตรงนี้ คิดว่าอย่างนั้น ประตูใหม่เป็นประตูรั้วเลื่อนสีเทาอมฟ้า นี่คือสีที่คุณพ่อชอบ และเป็นสีดั้งเดิมของประตูแดง ก่อนสนิมจะกัดกิน” นายนิตินัยกล่าว

รศ.ดร.พวงทองกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประตูแดงถูกนำไปจัดเก็บชั่วคราวไว้ที่โกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ รอโอกาสจัดแสดงในอนาคต คาดว่าน่าจะมีการจัดนิทรรศการเป็นระยะๆ ร่วมกับวัตถุอื่นๆ โดยเป้าหมายสูงสุดที่ฝันไว้ คืออยากจะรวบรวมวัตถุและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นหอจดหมายเหตุ หรือพิพิธภัณฑ์ถาวร แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ต้องมีผู้ที่มีเจตจำนงสนับสนุนงบอย่างต่อเนื่อง และต้องคงอยู่นานเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ดู แต่ปัจจุบันยังไม่มีงบ และทรัพยากร จึงทำได้เฉพาะส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในเว็บไซต์ doct6.com

ขอบคุณข้อมูลจาก Voice TV

ย้อนเหตุ “ประตูแดง” ชนวนเหตุ สังหารโหด เลือดนอง “6 ตุลาฯ”

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 ในระยะแรก การชุมนุมต่อต้านของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ลานโพ หน้าอาคาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ยังมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมไม่มากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แม้จะมีกิจกรรมแสดงละครล้อการเมืองเพื่อเรียกความสนใจให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม กิจกรรมต่อต้านหนึ่งของนิสิตนักศึกษา คือการปิดโปสเตอร์แสดงจุดยืน และเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุม ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเหตุที่ทำให้นักศึกษา และแนวร่วมซึ่งออกปิดโปสเตอร์ดังกล่าวถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บหลายครั้ง

จนเกิดคดีที่พนักงานการไฟฟ้า 2 คน คือนายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย ซึ่งร่วมปิดโปสเตอร์ประท้วงที่ ต.พระประโทน จ.นครปฐม ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต แล้วนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง ซึ่งคือประตูแดงแห่งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้

ต่อมาช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ชมรมศิลปการแสดงของธ มธ.จัดแสดงละครรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า 2 รายที่ จ.นครปฐม ที่ลานโพธิ์ มธ.แล้วช่วงบ่ายเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ก่อนย้ายเข้าสนามฟุตบอล มธ.ในช่วงค่ำ

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ได้แก่ บางกอกโพสต์ และดาวสยาม ลงภาพการแสดงละครล้อการแขวนคอโดยนักศึกษา มธ.จึงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยว่าภาพถ่ายที่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวตีพิมพ์เพื่อใช้เป็นประเด็นโจมตีนักศึกษานั้น ถูกตกแต่งขึ้นมา แต่สำเนาทุกฉบับที่ยังเหลืออยู่เป็นภาพเดียวกัน จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะของกองทัพบก โหมปลุกระดมกล่าวหาว่า นักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประกาศให้ “ฆ่ามัน” และ “ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์”

จากการตกแต่งบิดเบือนภาพ และเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ต่อด้วยการโหมปลุกระดมของสถานีวิทยุของกองทัพอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นหนึ่งปัจจัย และข้ออ้างที่ทำให้ทหารตำรวจปฏิบัติการล้อมปราบนิสิตนักศึกษาใน มธ.กลายเป็นโศกนาฏกรรม 6 ตุลาฯ 19 ซึ่งมีนิสิตนักศึกษา และประชาชน เสียชีวิตจำนวนมากในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image