เสียงสะท้อน..คนวงการศึกษา ส่งตรงถึง “4” รมต.ศธ.-อุดมฯ

หมายเหตุ…ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 โดยรัฐมนตรีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ., คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ., นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. “มติชน” จึงได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามานำเสนอ

๐ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

“ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับนายสุวิทย์ เชื่อว่านายสุวิทย์เหมาะสม เพราะเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อน และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) จึงมีความรู้ความเข้าใจในงานอุดมศึกษา ทั้งนี้ อว.ถือเป็นกระทรวงที่เกิดใหม่ และงานด้านอุดมศึกษาเป็นงานที่ท้าทาย เพราะอุดมศึกษาต้องสามารถสร้างคน และสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้

Advertisement

เรื่องที่ท้าทายอีกเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการ อว.ต้องเร่งแก้ไข คือปริมาณนักเรียนที่ลดลง ดังนั้น อุดมศึกษาต้องสร้างคุณภาพของคนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำงานอย่างรวดเร็ว ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้เป็นปัจจุบัน ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ หลังจากเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นรัฐมนตรีแล้ว ผมจะเชิญนายสุวิทย์เข้ามอบนโยบายให้กับ ทปอ.และเสนอปัญหาของอุดมศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อที่นายสุวิทย์จะได้ให้นโยบาย และแนวทางดำเนินงานต่อไป”

๐ ธนารัตน์ สมคเณ
รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร

Advertisement

“ส่วนตัวไม่มีปัญหาเรื่องตัวบุคคล เมื่อเข้ามาแล้ว อยากให้เดินหน้างานการศึกษาให้ดี เข้าใจว่าเมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้ว คำสั่งที่มาจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ในหลายเรื่อง น่าจะหยุดบังคับใช้ เพราะหลายคำสั่งทำให้ครู และคนในวงการศึกษาไม่กล้าพูด หรือกล้าวิจารณ์การทำงาน

ครั้งนี้อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานใหม่ หลังจากที่การพัฒนาการศึกษาชะลอมาหลายปี รวมถึง เข้ามาทบทวน และยกเลิกงานที่อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนเก่าทำผิดพลาด ทั้งโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือคูปองพัฒนาครู ซึ่งทำความเสียหายหลายพันล้านบาท แก้ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน ระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งทำให้บุคลากรทั้งใน ศธจ.และ สพท.สับสน สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก

รวมถึง การคัดเลือกผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ควรจะมาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ไม่ใช่เล่นพรรคเล่นพวก จนทำให้เกิดความเสียหาย

ผมเองไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล โดยในส่วนของนายณัฏฐพล ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คงต้องให้เวลาทำงานก่อน จึงจะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ ศธ.ยังโชคดีที่มีคนรู้เรื่องการศึกษาอย่างคุณหญิงกัลยา มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ส่วนนางกนกวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีกราย ถือว่ามาจากนักการเมือง ดังนั้น ต้องเรียนรู้งานการศึกษา และคนในวงการศึกษาให้มาก เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงปราบเซียน หากไม่เข้าใจก็อาจมีปัญหา”

๐ ฤๅเดช เกิดวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

“ในส่วนของรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ไม่กล้าให้ความเห็น เพราะไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นผลงานด้านการศึกษา ไม่แน่ใจว่าทั้ง 3 คนมีองค์ความรู้ และมีความเข้าใจด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน จะมีบ้างคือคุณหญิงกัลยา เคยเห็นภาพที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาบ้าง แต่ก็เป็นภาพกว้าง ไม่ลงลึก ซึ่งงานการศึกษามีรายละเอียด และปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขมากกว่านั้น

สำหรับนายสุวิทย์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว.นั้น ส่วนตัวมั่นใจว่านายสุวิทย์จะมีความเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอุดมศึกษา ซึ่งหลักการสำคัญคือ ต้องให้อิสระทางวิชาการ และเรื่องที่ผมย้ำมาตลอด คือการปลดล็อกเรื่องที่ขัดขวางการทำงานของมหาวิทยาลัย อะไรที่เป็นปัญหาก็ควรยกเลิก เช่น กรอบมาตรฐานหลักสูตร ที่ทำให้มหาวิทยาลัยติดขัด ไม่มีอิสระในการจัดการเรียนการสอน เป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไข ยกเลิก แต่หากกังวลว่ามหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ ก็ไม่ต้องห่วง เพราะตลาดแรงงานจะเป็นตัวคัดกรอง หากไม่มีคุณภาพจริง ก็อยู่ไม่ได้แน่นอน”

๐ วิสิทธิ์ ใจเถิง
ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

“ส่วนตัวเห็นว่า ต้องให้โอกาสทั้ง 3 คนได้ทำงาน ในส่วนของนายณัฏฐพล เป็นคนหนุ่ม รุ่นใหม่ เคยเป็นผู้บริหารสถานศึกษา น่าจะทำงานได้ เป็นความหวังของคนวงการศึกษา ขณะที่คุณหญิงกัลยา ถือว่าเหมาะสม เพราะคลุกคลีกับการศึกษา จัดทำโครงการต่างๆ เข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนหลายอย่าง ในส่วนของผมเอง เคยสัมผัส และร่วมงานกับคุณหญิงกัลยามาบ้าง เชื่อว่าทั้ง 3 คน จะทำงานพัฒนาการศึกษาได้เป็นอย่างดี เชื่อว่ารัฐบาล และพรรคการเมือง ต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝากให้รัฐมนตรี ศธ.เร่งทำงาน หนีไม่พ้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อยากให้ทำบนพื้นฐานของความจริง ยึดความเป็นไทย เตรียมพร้อมนักเรียน สู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกัน อยากให้ทบทวนการอบรมครู ปรับรูปแบบการทำงานให้เกิดผลต่อการพัฒนา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง อย่างโครงการคูปองครูที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลต่อการพัฒนาครูอย่างแท้จริง ทั้งที่ใช้งบประมาณอบรมถึงรายละ 1 หมื่นบาท แต่ไม่เกิดผล กลายเป็นเอาเงินไปเข้ากระเป๋าบริษัทเอกชนที่เป็นหน่วยจัดอบรม ทำให้รัฐสูญเสียงบหลายพันล้านบาท หากเป็นไปได้ อยากให้ปรับวิธีการ ส่งงบตรงให้โรงเรียน หรือ สพท.ดำเนินการ มีระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพ ให้การพัฒนาครูส่งผลถึงการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง”

๐ อดิศร สินประสงค์
นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.)

“อาชีวะเอกชนมีหลายประเด็นที่อยากให้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เร่งช่วยเหลือ เมื่อนายณัฏฐพลเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผมเชื่อในความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของนายณัฎฐพล ที่เป็นผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาเอกชน จะเข้าใจปัญหาของการศึกษาเอกชน จะช่วยพัฒนา และผลักดันการศึกษาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ และมีส่วนร่วมแบ่งเบาภาระของรัฐ

ทั้งนี้ อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้าแก้ปัญหาของอาชีวะเอกชนที่ได้รับปัญหาจากคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ที่ขณะนี้ยังมีความสับสนกับหน่วยงานต้นสังกัด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แม้อาชีวะเอกชนจะย้ายสังกัดมาอยู่กับ สอศ.แล้ว แต่ด้านของกฎหมาย และระเบียบบางส่วน ยังอยู่ภายใต้การกำกับของ สช.อยู่ ดังนั้น ในระยะสั้นขอให้โอนอำนาจจาก สช.ไปยัง สอศ.ทั้งหมด อีกทั้ง อาชีวะเอกชนยังรอให้ออก พ.ร.บ.อาชีวะเอกชนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้อาชีวะเอกชนมีกฎหมายเป็นของตนเอง เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้ามาดูแล

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นจำนวนนักเรียนที่ลดลง งบต่างๆ เช่น งบเดือนครูที่ไม่ขึ้นเงินเดือนเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เป็นต้น ผมหวังว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะลงมากำกับดูแลการศึกษาเอกชนด้วยตนเอง หรือเลือกรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ที่เข้าใจการศึกษาเอกชนเข้ามาดูแลแทน”

๐ พัฒนะ งามสูงเนิน
ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี

“ปัญหาที่แก้ไม่ตกของการศึกษา คือคุณภาพการศึกษาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA เป็นต้น ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำอยู่ หรือการวัดผลประเมินผลอาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพราะเกณฑ์การวัดผลประเมินผลในปัจจุบัน เป็นเกณฑ์กลางที่ทั่วประเทศต้องประเมินตามนี้ อาจต้องเข้าไปตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลว่าเกณฑ์การประเมินผลต่างๆ ได้ผลประเมินที่ต่ำเพราะอะไร ควรจะกำหนดเกณฑ์วัดผลประเมินผลให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่หรือไม่ เช่นเดียวกับปัญหาการขาดแคลนครู ที่การคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครูต่อจำนวนนักเรียน ยังไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ยังไม่เป็นปัจจุบันมากพอ จึงอยากให้การคำนวณอัตรากำลังครูให้เป็นปัจจุบันด้วย

ส่วนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ ผมเชื่อมั่นในตัวนายณัฏฐพล ที่มีความรู้ด้านการศึกษา รวมทั้ง เชื่อว่าจะมีทีมงานข้าราชการในกระทรวงที่มีความรู้ ความสามารถ จะรวบรวมข้อมูล พร้อมกับแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อรอให้นายณัฏฐพล มาให้นโยบายและแก้ไข”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image