‘บอร์ด กพฐ.’ ย้ำ ร.ร.ห้ามประมูลอาหารกลางวัน ชี้อนาคต น.ร.อาจได้เงินอุดหนุนไม่เท่ากัน

‘บอร์ด กพฐ.’ ย้ำ ร.ร.ห้ามประมูลอาหารกลางวัน ชี้อนาคต น.ร.อาจได้เงินอุดหนุนไม่เท่ากัน

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ.ว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ให้ความสนใจในเรื่องโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และได้มีการหารือกับตนมาบ้างแล้ว โดยการได้มาซึ่งโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนนั้นมีหลากหลายวิธี เช่น จ้างเหมาทำ โรงเรียนทำเอง เป็นต้น ประกอบกับทางกรมบัญชีกลาง ก็เคยมีการแจ้งเรื่องแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร การจ้างบุคคลเพื่อประกอบอาหาร หรือการจ้างเหมาประกอบอาหารปรุงสำเร็จมาแล้วว่า ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกำหนดแนวปฏิบัติในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร การจ้างบุคคลเพื่อประกอบอาหาร หรือการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) ดังนั้นจึงขอให้สถานศึกษายึดตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งงบประมาณที่นักเรียนได้รับเมื่อรวมกันแล้วหากเกิน 5 แสนบาท ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีประมูลอีบิดดิ้ง โดยให้ดูตามความเหมาะสม สามารถจัดซื้อเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายภาคเรียนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้รับเงินเต็มจำนวนหากมีการใช้วิธีอีบิดดิ้ง หรือเปิดประมูลแข่งขัน ตัวเงินก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเฉือนราคากัน จะทำให้นักเรียนไม่ได้รับเงินเต็ม 20 บาท

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าความจริงแล้วโครงการอาหารกลางวัน จำนวนเงิน 20 บาทต่อคน พอหรือไม่พอนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียน เช่นถ้านักเรียน 200 คนขึ้นไป ได้คนละ 20 บาท ไม่น่าเป็นปัญหาในการจัดหาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ เพราะเมื่อมารวมกันแล้วตกวันละ 4,000 บาท แต่ถ้านักเรียน 30 หรือ 40 คนลงมา เงิน 20 บาท ที่ได้รับอาจจะมีปัญหา โดยที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ สพฐ.ไปคิดว่าขั้นต่ำนักเรียนเท่าไหร่ เงินอาหารกลางวันควรจะเป็นเท่าไหร่ เช่นถ้านักเรียน 30 คน เงินอาหารกลางวันอาจเป็นคนละ 40 บาทก็ได้ ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก ค่าอาหาร 20 บาท เงินจะเหลือ ซึ่งบางสถานศึกษาได้นำเงินส่วนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ซื้ออุปกรณ์ครัว เป็นต้น หากทำเช่นนี้ ต่อไปนักเรียนทุกคนอาจไม่ได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน คนละ 20 บาทเท่ากัน นักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่อาจได้รับงบอุดหนุนน้อย นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบอุดหนุนมากกว่า โดยไม่มีการใช้งบประมาณเพิ่มแต่นำมาเฉลี่ยกันใหม่ จะไม่เป็นปัญหาภาระงบประมาณ

“รวมถึงฝากให้ผู้บริหาร สพฐ.ย้ำและกำชับถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน ไปยังผู้บริหารสถานศึกษาว่าไม่ควรเปิดประมูล ควรใช้วิธีการให้ผู้ที่จะมารับเหมาทำเมนูให้ดูว่า งบที่มีอยู่จะทำอาหารอะไรได้บ้าง และกระบวนการคัดเลือกให้มีคณะกรรมการนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้รับเหมาด้วย ก็จะดีขึ้น ทั้งนี้งบโครงการอาหารกลางวัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะโอนให้สถานศึกษาโดยไม่ผ่านสพฐ. ดังนั้นของเสนอแนะเรื่องงบประมาณดังกล่าว เพียงแต่ กพฐ.เสนอแนะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อเสนอที่ประชุม กพฐ.และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายเอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image