สายตรงถึง… ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ สร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่-ลดงานอีเว้นต์ หลัง 5 ปี มีแต่งาน ‘อนุรักษ์-กีดกันโลกยุคใหม่’

หมายเหตุ…ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 โดยรัฐมนตรีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (ศธ.) “มติชน” จึงได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มานำเสนอ

ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

“การที่นายอิทธิพลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.ส่วนตัวมองในเชิงการเมือง ซึ่งกลุ่มพลังชล รู้สถานการณ์ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี หากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปี จะเห็นว่าตัวแทนกลุ่มพลังชล เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่นายอิทธิพลมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.จึงเป็นการรักษาฐานพื้นที่ทางการเมืองมากกว่า เพราะ วธ.เป็นกระทรวงเล็ก งบประมาณเพียง 7-8 พันล้านบาท ไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ ไม่ต้องไปต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันการเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.ยังเชื่อมโยงกับการเมือง และการท่องเที่ยวท้องถิ่นของกลุ่มพลังชลที่ดูแลพื้นที่ จ.ชลบุรี และพัทยา สามารถเชื่อมโยงการทำงานให้เข้ากับ วธ.ได้

Advertisement

ส่วนการเดินหน้างานวัฒนธรรมในภาพรวมนั้น คิดว่าคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะ วธ.เป็นกระทรวงอนุรักษ์นิยม จะปกป้องรักษาสิ่งที่คิดว่าเป็นวัฒนธรรมไทยดั่งเดิม ขณะที่การส่งเสริมวัฒนธรรมใหม่ๆ ยังอยู่ภายใต้กรอบอนุรักษ์นิยม ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.ก็เป็นเรื่องยากที่จะหลุดจากกรอบนี้

ส่วนการทำงานของนายวีระในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมให้ 5 คะแนน เต็ม 10 คะแนน จากการอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ แต่มองไม่เห็นบทบาทการทำงานในเชิงลึก และเห็นความพยายามกีดกันโลกสมัยใหม่ หยุดวัฒนธรรมทางความคิด ทั้งที่สังคมมุ่งสู่โลกโลกาภิวัตน์ จึงตีความ วธ.เป็นกระทรวงอนุรักษ์นิยม มากกว่าเป็นกระทรวงที่สร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่จะสามารถดึงการมีส่วนร่วมของเยาวชน เสริมสร้างพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ให้วัฒนธรรมยุคเก่า และยุคใหม่ สามารถอยู่ร่วมกันได้”

สมฤทธิ์ ลือชัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์

“ส่วนตัวมองว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือกระทั่งในอนาคต ที่นายอิทธิพลจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย เพราะหลักใหญ่การทำงานของ วธ.คือการรักษาวัฒนธรรม ซึ่งนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่มีการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่สร้างสรรค์ให้มนุษย์ยอมรับความหลากหลาย ส่งเสริมให้มนุษย์เคารพซึ่งกันและกัน งานส่วนใหญ่เป็นการรักษาวัฒนธรรมแบบเก่า

ผมไม่ได้บอกว่าวัฒนธรรมแบบเก่าไม่ดี อยากให้มองวัฒนธรรมเป็นเหมือนมนุษย์ ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีหลายมิติ ดังนั้น บางอย่างต้องสร้างใหม่ บางอย่างต้องปรับปรุง เช่น วัฒนธรรมของชาวบ้าน อาทิ การแสดงลิเก ลำตัด มโนราห์ สามารถยกระดับให้กลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ โดยเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสได้มาจัดแสดงในเวทีสำคัญๆ หรือให้เข้ามาแสดงในศูนย์วัฒนธรรมของ วธ.ได้หรือไม่ ไม่ใช่เก็บไว้เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งไม่ถูกยกระดับให้ความสำคัญ ขณะที่โขนถูกยกย่องเป็นวัฒนธรรมของชาติ เผยแพร่ส่งเสริมทั้งใน และต่างประเทศ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากขึ้น ขณะเดียวกับควรนำโขนซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาติ ไปจัดแสดงในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชม และรู้จักศิลปะวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติมากขึ้น

ส่วนการทำงานของนายวีระในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมให้ 6 คะแนน จาก 10 คะแนนเต็ม ส่วนตัวนับถือกัน และนายวีระก็เป็นคนดี แต่กรอบนโยบายการทำงานของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากรักษาวัฒนธรรมเดิม ซึ่งนายวีระทำได้ดี แต่ยังขาดการสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมใหม่ๆ

สำหรับนายอิทธิพลที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.นั้น ถ้าถามว่าอยากจะฝากให้เดินหน้าในเรื่องใดหรือไม่ ผมคงไม่ฝากความหวังไว้กับใครในรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น”

พระเทพปฏิภาณวาที (เจ้าคุณพิพิธ)
วัดสุทัศน์เทพวราราม

“เชื่อว่ารัฐบาลได้วางตัวนายอิทธิพลให้เข้ามาดู วธ.อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมีประสบการณ์ดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่น จ.ชลบุรี เคยได้เข้ามาช่วยงานนายสนธยา คุณปลื้ม พี่ชายทำงานการเมือง ดูแลวัฒนธรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับน่าจะเป็นความสนใจของนายอิทธิพล ที่อยากเข้ามาทำงานตรงนี้ อย่างไรก็ตาม งานที่ผ่านมาของนายอิทธิพล เป็นการดูแลวัฒนธรมท้องถิ่น แต่การมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.เป็นการดูแลวัฒนธรรมภาพรวมของประเทศ ดังนั้น นายอิทธิพลจะต้องศึกษารายละเอียดว่าแต่ละจังหวัดมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งต้องทำทั้งในด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเริ่มต้นอยากให้หาที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้รู้ ข้าราชการที่รู้งานใน วธ.ขณะเดียวกัน อยากฝากให้ช่วยส่งเสริมให้คนไทย หันมาท่องเที่ยวโบราณสถาน ตามวัดต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยรณรงค์ให้ประชาชนเข้าวัดทำกิจกรรมในวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งทำบุญ ไหว้พระ เวียนเทียน ไม่ใช่มองแค่โบราณสถานในวัดเป็นเพียงซากอิฐ ซากปูน

ส่วนนายวีระนั้น เป็นลูกหม้อของ วธ.โดยตรง ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.มีโอกาสทำงานสำคัญของประเทศ ทั้ง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นงานยาก ให้ผ่านไปได้อย่างสมบูรณ์ หากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ก็ต้องให้เต็ม ถ้าเต็ม 100 คะแนน ก็ต้องให้ เพราะถือว่าทำได้อย่างดี ต้องประสานงานหลายฝ่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย”

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.เหมือนจะเป็นตำแหน่งทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเรื่องความถนัดจัดเจนของตัวบุคคล ที่ในระยะหลังชัดว่าเป็นการสืบทอดกันในตระกูลคุณปลื้ม ตั้งแต่ปี 2554 จนเรียกได้ว่าลืมแนวคิดการเลือกรัฐมนตรีของแคนาดา คือ ‘ใช้คนตรงกับงาน’ ไปได้เลย กับการเมืองไทยในปัจจุบัน
คงมีเพียงอดีตรัฐมนตรี วธ.คนก่อน คือนายวีระ ที่พอจะเข้าใจงานด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสักหน่อย เพราะเป็นคนกรมศิลปากรเดิม และทำงานในกระทรวงนี้มานาน ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ให้เป็นรัฐมนตรี แต่ด้วยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายใช้ความเป็นไทยสร้างชาติ เราจึงได้เห็นแนวคิดพวก ‘ไทยแท้แท้’ ที่อดสงสัยไม่ได้ว่าความเป็นไทยแท้นั้นคืออะไร

เท่าที่ดูจากประวัติการศึกษา และการทำงานของรัฐมนตรีว่าการ วธ.คนใหม่ เข้าใจว่าท่านคงจะเป็นมือใหม่มากๆ ในงานด้านนี้ ถ้าหากผมสามารถฝากบอกอะไรไปได้ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ ท่านจำเป็นต้องฟังข้าราชการประจำที่มีประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้งาน และสะสางปัญหาภายในเสียก่อน แล้วจึงกำหนดนโยบายใหม่ ไม่ควรเร่งสร้างผลงาน เพราะจะสร้างภาระให้กับข้าราชการประจำเสียเปล่าๆ นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำได้มีอิสระทางความคิด นำเสนอสิ่งใหม่ๆ และให้ผลงานเป็นชื่อคนทำ ไม่ใช่หัวหน้าที่ได้หน้าไป
ผมคิดว่านายอิทธิพลจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาดีๆ เป็นคนรุ่นเก่าที่เก่ง ผสมกับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดทันสมัย เห็นโลกกว้าง เพราะในปัจจุบัน งานด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และศาสนานั้น ก้าวหน้าไปมาก ทั้งแนวคิดทฤษฎี และการปฏิบัติ เช่น มีแนวโน้มของการเป็นงานเพื่อมวลชนมากขึ้น เพราะชาตินั้น ประกอบด้วยคนหลายภาคส่วน การมุ่งนำเสนอเฉพาะวัฒนธรรมของชนชั้นนำ หรือเพียงศาสนาเดียวนั้น นับเป็นเรื่องล้าสมัย รังแต่จะก่อให้เกิดภาวะคลั่งชาติ คลั่งศาสนา อันตรายมาก

สังคมไทยมีปัญหาเชิงประวัติศาสตร์ และศาสนามายาวนาน ทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือการสนับสนุนให้เกิด Open Access ให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุกปีกรมศิลปากรสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีจำนวนมาก แต่รายงานยังเผยแพร่กันน้อย ซึ่งบ่อยครั้งมาจากเหตุผลของปัจเจก เอาเป็นว่าควรสนับสนุนให้เกิดคลังข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ เมื่อรู้มากขึ้น ก็เห็นคุณค่า กลายเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ สังคมที่มีปัญญาเท่านั้น จึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน แน่นอนเมื่องานเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มตำแหน่งราชการยุคดิจิทัลเข้าไปด้วย

อีกอย่าง กระทรวงควรลดงานอีเว้นต์ขาประจำลงบ้าง โดยปล่อยให้เป็นเรื่องของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีต่างๆ เพราะจะช่วยให้เกิดความหลากหลายของรูปแบบ ไม่ถูกควบคุมโดยส่วนกลางไปเสียหมด อีกทั้ง ไม่ควรจ้างออร์แกนไนเซอร์มากจนเกินไป เพราะสิ้นเปลืองงบ และไม่ได้พัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร

ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี อเมริกา ฯลฯ มีหอศิลปะร่วมสมัยมากมายก่ายกอง แต่ประเทศไทยแทบไม่มีแม้แต่ค่าน้ำค่าไฟจะจ่ายเสียด้วยซ้ำ หอศิลปะร่วมสมัยคือพื้นที่สำคัญ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะสะท้อนถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนในชาติ ใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้มากมาย ไม่ควรมีแค่กรุงเทพฯ แต่ควรกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้น หอศิลป์นี้ ควรขยายความหมายให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เหมาะกับสังคมเมือง และวัยรุ่น ซึ่งไม่มีสเปซให้พวกเขาแสดงออก ห้างสรรพสินค้าไม่ควรเป็นพื้นที่เดียวของสังคมเมืองสมัยใหม่ ที่หอศิลป์เมืองละฮอร์ ปากีสถาน มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เยาวชนมาใช้ หากมีของจะปล่อย ก็สามารถเข้ามาใช้สถานที่ได้ฟรี และควรต้องนึกต่อไปถึงการปรับพื้นที่หอศิลป์ กระทั่งพิพิธภัณฑ์ ให้รองรับกับสังคม Ageing Society ที่กำลังจะเกิดในสังคมไทยด้วย

ปัญหาของระบบราชการไทย คือการทำงานแบบแยกกระทรวง แยกแล้วแยกขาด ทำให้ไม่เกิดการบูรณาการ ในไทยมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากมาย ควรจะเชื่อมต่อกับระบบการศึกษา เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเด็กและเยาวชน เรื่องนี้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ ควรปรึกษา

สุดท้าย งานรับใช้อุดมการณ์ชาติของ วธ.นั้น คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก เพราะชัดมากในสมัย คสช.ซึ่งเป็นการทุ่มงบที่สูญเปล่า นอกจากไม่ก่อให้เกิดความรักชาติเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมอีกด้วย ผมเชื่อว่านายอิทธิพลเป็นคนรุ่นใหม่ หวังว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะไม่เดินซ้ำรอย แต่คงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อหัวหน้าใหญ่ไม่ได้คิดอะไรไปไกลกว่ายุค 2490-2500”

บวรเวท รุ่งรุจี
อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

“มองว่างานที่ผ่านมาของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สนับสนุนงานด้านวัฒนาธรรมได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ นายวีระถือว่าทำผลงานได้ดี ได้พยายามสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่องค์ความรู้มาตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ส่วนตัวให้คะแนนนายวีระ 8 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน

ส่วนรัฐบาลชุดใหม่นี้ มองว่างานด้านวัฒนธรรมควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยอยากอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในสังคม โดยอาจจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เช่น การสร้างหลักสูตร หรือบรรจุเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันจะเห็นว่าหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มีน้อยมาก ถ้าไม่สามารถปูความรู้พื้นฐานให้กับเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจ และอยากจะหวงแหนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ต่อไปการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยจะเป็นไปได้ยากมาก

ทั้งนี้ งานต่อเนื่องของ วธ.และกรมศิลปากร เช่น งานทวงคืนโบราณวัตถุนั้น ถือเป็นงานต่อเนื่อง แต่มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า ต้องให้ความรู้กับประชาชน ภาคส่วนท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ช่วยดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของไทย แม้ว่าในท้องถิ่นจะมีอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ก็ตาม เป็นอาสาสมัครเหล่านี้มาด้วยใจ ไม่ได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทน หากผลักดันให้มีค่าตอบแทน คิดว่าจะสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น”

ผศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“งานทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน มองว่าไม่มีนโยบายอย่างจริงจังจากรัฐบาลมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นงานวัฒนธรรมที่สร้างชาติ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และงานส่วนมากเป็นงานด้านภาษา การแสดงศิลปะวัฒนธรรม เช่น การรำ เป็นต้น ควรตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้ากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ หากรัฐบาลลดงานส่วนนี้ลง สร้างวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และภาคส่วนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการสร้างเพื่อเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ใน 3 ระดับ

คือ 1.การสร้างสรรค์ (Creative) โดยผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่จำกัด และให้เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเพื่อสร้างสรรค์งานต่าง 2.การสร้างชุมชน (Community) ซึ่งจะเชื่อมกับการทำงานอย่างสร้างสรรค์เข้ากับชุมชนของประเทศไทยที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์เท่านั้น แต่เป็นการให้สิทธิชุมชนในการพิทักษ์ชุมชน และอัตลักษณ์ของตนเอง และ 3.การสร้างชาติ (Commonality) โดยการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ ต้องเคารพในความแตกต่างในสังคมด้วย

หาก วธ.ส่งเสริมงาน 3 ด้านนี้ เชื่อว่าวัฒนธรรมของไทยจะได้รับการอนุรักษ์ มีความก้าวหน้า มีความเข้มแข็ง และจะสามารถเชื่อมโยงพัฒนาต่อยอดไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image