ถอดรหัส ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดปัญหาแม่พิมพ์ ‘ขาดแคลน-ย้ายหนี’

ปัญหาการศึกษาไทย ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในหลายเวที แม้แต่ละปีจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาไทยมากกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหายังคงเรื้อรังและเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับผลการศึกษาของธนาคารโลกที่ชี้ว่า การจัดสรรครูที่ขาดประสิทธิภาพเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการจัดสรรงบประมาณในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหนึ่งของความถดถอยด้านคุณภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะครูในพื้นที่ห่างไกล จึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น สาเหตุหลักที่ครูในพื้นที่โยกย้ายบ่อย อาจเพราะความไม่คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และภาษาในท้องถิ่นนั้นๆ ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องขาดแคลนครูอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานรัฐ 5 แห่ง ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงใน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น หรือโครงการโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยมีเป้าหมายหลัก คือสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน เฉลี่ยทุนละ 160,000 บาท/ทุน/ปี เพื่อผลิตครูท้องถิ่นให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ลดปัญหาการโยกย้าย ขาดแคลนครู เมื่อเรียนจบตามหลักสูตรจะได้รับบรรจุเป็นครูกลับมาสอนในท้องถิ่นของตนเอง

นายสุขสันต์ สอนนวล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพญาไพร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 3 จ.เชียงราย มองว่าโครงการดังกล่าวสามารถลดปัญหาการเคลื่อนย้ายครูได้จริง เพราะการเปิดโอกาสให้เด็กยากจน เรียนดี มีภูมิลำเนาในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงมีใจรักความเป็นครู ได้เรียนและได้ทำงานที่บ้านเกิด จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเด็กจะได้กลับมาพัฒนาชุมชน ได้กลับมาอยู่บ้าน ทำงานใกล้ชิดครอบครัว ดังนั้นการผลิตครูในท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะเด็กจะคุ้นชินกับวิถีชุมชน วัฒนธรรม รวมไปถึงการสื่อสารภาษาท้องถิ่น ส่งผลให้ทำงานอย่างมีคุณภาพและมีความสุข ส่วนปัญหาที่หลายคนกังวลว่าเด็กที่ถูกคัดตัวเข้าโครงการจะออกกลางคัน ด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิ ปรับตัวไม่ได้ เรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น เราเคยเจอปัญหาเหล่านี้มาแล้ว เราจึงนำมาเป็นบทเรียนเพื่อดักปัญหาไว้ก่อน และเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กต่อไป

“ในฐานะที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผมเห็นครูหลายรุ่นหลายคนมีปัญหาเรื่องโยกย้ายบ่อยมาก ผมจึงมองว่าครูที่ดีที่สุด ไม่ใช่ครูที่เก่งที่สุด แต่เป็นครูที่มีความรักงาน รักความเป็นครู ใฝ่งานใฝ่เรียนรู้และรักเด็ก โดยสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้ครูเป็นครูที่ดีมากกว่าเป็นครูที่เก่ง ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าครูเก่งจะไม่ดี แต่ถ้ายิ่งดียิ่งเก่งจะยอดเยี่ยมมาก”Ž นายสุขสันต์กล่าว

Advertisement

ส่วน ดร.มูหัมมัดตอลาล แกมะ รองคณบดีคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ยะลา เผยผลสำรวจนักเรียนในพื้นที่ของ จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงว่า พบนักเรียนที่อยู่ในเขตพรมแดนขาดโอกาสทางด้านการศึกษาจำนวนมาก ปัญหาความยากจน สะท้อนให้เห็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาการโยกย้ายครูบ่อยครั้ง โดยสาเหตุหลักมาจากครูต่างถิ่นไม่เข้าใจวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของคนในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการสื่อสาร และปัญหาการเข้าถึงคนในชุมชน ดังนั้นโครงการครูรักษ์ถิ่น จึงตอบโจทย์อย่างมาก หากในพื้นที่มีครูที่มาจากท้องถิ่น ที่เข้าใจและเข้าถึงคนในชุมชน จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการนี้หากเกิดเป็นรูปธรรมจะช่วยแก้ปัญหาในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงเด็กที่อยากเป็นครู อยากให้มีใจรักความเป็นครู มีความรักท้องถิ่น และมีความเสียสละ เพราะ 3 สิ่งนี้ เป็นสิ่งจำเป็นมากในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Advertisement

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มองว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ต่อยอดบทเรียนสำคัญของโครงการคุรุทายาท คือ ต้องการปิดจุดการโยกย้ายครู ถึงแม้กติกาใหม่ระบุให้ครูอยู่ครบ 4 ปี แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการโยกย้ายได้ ดังนั้นการผลิตครูในท้องถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นครูในพื้นที่ การดึงมหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยงบ่มเพาะเด็ก จะช่วยให้เด็กมีคุณภาพ และเป็นการสร้างครูที่พร้อมใช้ นอกจากนี้ ในระยะยาวเมื่อจบตามหลักสูตรแล้วได้บรรจุเป็นข้าราชการครู กลับไปสอนยังถิ่นเกิด กลายเป็นครูไม่ทิ้งถิ่นอย่างแน่นอน

 

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.เผยแนวคิดนี้ว่า ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลคือ ครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น และไม่มีครูมาทดแทน ครูจึงไม่พอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนประถมศึกษา ดังนั้นการจัดตั้งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยเราจะเฟ้นหาเด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีลักษณะพิเศษคือเป็นโรงเรียนที่ไม่ยุบรวมหรือเป็นโรงเรียนในชุมชนบนยอดดอย ตามตะเข็บชายแดน หรือตามเกาะ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนครูและจบออกมาเป็นครูกลับมาสอนในท้องถิ่น โดยเราตั้งโจทย์ไว้ว่าหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 สถาบันแล้ว จะให้มหาวิทยาลัยคัดกรองเด็กที่เรียนดี มีใจรักความเป็นครู ที่สำคัญต้องอยู่ในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมโครงการ เมื่อได้เด็กมาแล้วต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรับมือเรื่องการปรับตัวในสถาบัน เพื่อป้องกันเด็กถอดใจเลิกเรียนกลางคัน พร้อมหากิจกรรมเชื่อมโยงเด็กเข้ากับชุมชน ป้องกันการลืมบ้านเกิดด้วย โดยโครงการนี้จะดำเนินงานผ่านสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการราว 10 สถาบัน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

การเดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะส่งผลให้ภายในระยะเวลา 10 ปี มีครูเพียงพอต่อความต้องการได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แก้ปัญหาครูประจำการโยกย้ายบ่อยในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่สำคัญโครงการนี้จะช่วยให้เด็กกลุ่มเป้าหมายสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image