วิกฤต!! ปี’62 ร.ร.เอกชนปิดตัวเพิ่ม 4 เท่า ‘กนกวรรณ’ เล็งถกผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาด่วน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนโรงเรียนเอกชนในสังกัด ในปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 พบว่า การศึกษาในระบบ ประเภทโรงเรียนสามัญศึกษา ปีการศึกษา 2561 มีโรงเรียน 4,003 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัว 66 แห่ง เหลือ 3,937 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ ปีการศึกษา 2561 มี 206 แห่ง และปีการศึกษา 2562 เปิดเพิ่ม 1 แห่ง รวม 207 แห่ง ส่วนการศึกษาเอกชนนอกระบบ ได้แก่ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนสอนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนเสริมทักษะชีวิต โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ปีการศึกษา 2561 มีทั้งหมด 10,538 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัว 15 แห่ง เหลือ 10,523 แห่ง และเมื่อรวมโรงเรียนเอกชนทุกประเภทในสงกัด สช.ในปีการศึกษา 2561 มีจำนวนรวม 14,747 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัวรวม 80 แห่ง ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนรวมทั้งสิ้น 14,667 แห่ง

“ถือว่าโรงเรียนเอกชนลดลงกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษา ที่จากเดิมจำนวนปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 20 แห่งต่อปี ในปีนี้กลับมีโรงเรียนปิดตัวถึง 66 แห่ง ส่วนใหญ่ที่ปิดตัวคือโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาล เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกับโรงเรียนรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดรับสอนนักเรียนระดับอนุบาล 3 ขวบเช่นเดียวกัน เมื่อผู้ปกครอง และนักเรียน เลือกโรงเรียนรัฐจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนเอกชนเหล่านี้อยู่ไม่ได้ ต้องปิดตัวลง อีกสาเหตุหนึ่งมาจากจำนวนเด็กเกิดน้อยลง ซึ่งเป็นตามแนวโน้มของประชากรโลกในปัจจุบัน” นายชลำ กล่าว

นายชลำกล่าวต่อว่า ถ้ายังมีตัวแปรที่โรงเรียนรัฐเปิดรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบอยู่ โรงเรียนเอกชนจะได้รับผลกระทบแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นโยบายการรับนักเรียนในสังกัด สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2563 จะเน้นการกระจายอำนาจไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จึงขอให้ สพฐ.ทำความเข้าใจ และกำชับไปยังพื้นที่ให้ชัดเจนว่า การเปิดรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบ ต้องให้โรงเรียนเอกชน และ อปท.เปิดรับก่อน

“ขณะนี้ สช.อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 เสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2563 ผมเป็นตัวแทนจากฝั่งโรงเรียนเอกชน ได้สะท้อนประเด็นการรับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เอกชนพบเจอ และได้รับผลประทบ รวมทั้ง ข้อเสนอแนะต่างๆ ให้ที่ประชุมรับทราบแล้ว” นายชลำ กล่าว

Advertisement

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า จำนวนโรงเรียนที่ปิดตัวลงนั้นมากกว่าทุกปี จากที่รับรายงานมาในแต่ละปี โรงเรียนเอกชนจะปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 20 แห่งต่อปี เป็นผลกระทบมาจากการรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบ ที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.เปิดรับซ้ำซ้อนกัน ผู้ปกครองบางรายค้างค่าเล่าเรียน หรือไม่จ่ายให้โรงเรียน ทำให้โรงเรียนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมทั้ง การถูกเรียกเก็บภาษีต่างๆ ทำให้โรงเรียนรับภาระไม่ไหว และปิดตัวลงไป และแนวโน้มจะมีมากขึ้นอีกในปีถัดไป

“อยากเห็นนโยบายการรับนักเรียนที่ชัดเจนจาก ศธ.หากจะให้ สพฐ.รับอนุบาล 3 ขวบ ก็ทำได้ โดยให้โรงเรียนทุกสังกัดแข่งขันกันที่คุณภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยที่รัฐอุดหนุนอย่างเท่าเทียมกัน ขณะนี้ผมกำลังรับฟังข้อมูลจากประธาน ปส.กช.ทุกจังหวัด รายงานข้อมูลปัญหา และร่วมกันหารือถึงวิธีการแก้ไขปัญหา เช่น อาจลดจำนวนครู เพื่อลดรายจ่ายของโรงเรียน และหารายได้เพิ่ม เพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด หวังว่านายณัฏฐพล และนางกนกวรรณ ที่รับผิดชอบดูแล สช.เข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้อย่างจริงจัง” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

ด้านนางกนกวรรณ กล่าวว่า กรณีที่โรงเรียนเอกชนปิดตัวถึง 80 แห่งนั้น ขอเข้าดูรายละเอียด และพูดคุยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก่อน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image