โฆษก วธ.แจงการบริหารงาน 5 ปี 10 ด.ยุค ‘บิ๊กตู่1’ ปปช.พอใจ-ต่างชาติยอมรับ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะโฆษก วธ.เปิดเผยว่า กรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบาย และการบริหารงานของอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.ในรัฐบาลที่ผ่านมา ว่าเน้นงานอนุรักษ์ มากกว่าการสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมใหม่ๆ และเน้นการจัดงานอีเวนต์ขาประจำลงนั้น การดำเนินงานด้านวัฒนธรรม จำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยรู้จักรากเหง้าของตนเอง และทำควบคู่กันไปทั้งการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด และการพัฒนา เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน สู่เศรษฐกิจชุมชน และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึง เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ และบทบาทไทยในเวทีโลก เช่น ถนนสายวัฒนธรรม การฟื้นฟูงานวัด 55 เมืองรอง ส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรม (CPOT) สร้างรายได้สู่ชุมชน การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

นางยุพากล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนงานนโยบายของ วธ.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอด 5 ปี 10 เดือน วธ.ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ผลงานที่ประชาชนประทับใจ และชื่นชมมากที่สุด อาทิ จัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การสร้างภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิไทยในเวทีโลก สวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก “ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ วิถีธรรม” เป็นปีที่ 14 การติดตามโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ การจัดมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทย การพัฒนาและยกระดับแหล่งเรียนรู้ การสร้างรายได้จากต้นทุนวัฒนธรรม เป็นต้น

นางยุพากล่าวต่อว่า จากการทำงานที่ผ่านมา วธ.ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในหลายด้าน อาทิ CNN ยกย่องภาคอีสานของไทยเป็น 1 ใน 17 สถานที่ท่องเที่ยวต้องมาเยือน และนิตยสาร Travel Bulletin มอบรางวัล STAR AWARDS 2018 ด้าน “แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด” แก่ไทย ล่าสุดมกราคม 2562 US News จัดอันดับไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมโดดเด่น อันดับ 9 ของโลก และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม อันดับที่ 21 ของโลก

“ส่วนที่วิจารณ์ว่าไทยมีหอศิลปะร่วมสมัยน้อยนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างหอศิลปร่วมสมัย รัชดา ที่ล่าช้านั้น วธ.ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดให้บริการแก่ประชาชน และจัดแสดงนิทรรศการได้ในปี 2563 นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการก่อสร้าง และการจัดทำแผนบริหารจัดการ มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการระดับนานาชาติ กำกับดูแล และติดตาม ซึ่งปัจจุบันมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้ง ได้ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการหอศิลป์จากประเทศต่างๆ นำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการหอศิลป์ร่วมสมัย โดยการเปิดให้บริการครั้งแรก จะเชิญศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัย นำผลงานชิ้นสำคัญมาจัดแสดง รวมถึง ศิลปินร่วมสมัยนานาชาติมาร่วมจัดแสดงผลงานด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image